October 11, 2024

ปูนซีเมนต์นครหลวง ทุ่มงบกว่า 172 ล้านบาท พร้อมก้าวสู่ยุค Industry 4.0 เปิดตัว “โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ” (Digital Connected Plant) เต็มรูปแบบ

บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ ปูนอินทรี หนึ่งในผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศไทย พร้อมแล้วที่จะประกาศความสำเร็จ เปิดตัว โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ” (Digital Connected Plant) แห่งแรกในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีการติดตั้งระบบ Pervasive Wireless Network และระบบเชื่อมต่อไร้สายครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ภายในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โดยเริ่มติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานนี้ ที่โรงงาน 3 จังหวัดสระบุรี ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ภาคอุตสาหกรรมได้ติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว ภายใต้ความมุ่งหมายของปูนซีเมนต์นครหลวง ที่จะพัฒนาการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” ขยายระบบดิจิทัลสู่อุตสาหกรรมการผลิต เพื่อสร้างความเติบโตที่ยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายของอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)

002

ศิวะ มหาสันทนะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ระบบโรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ ถือได้ว่าเป็นโครงการใหญ่ โครงการหนึ่งของปูนซีเมนต์นครหลวง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดการสูญเสียจากการหยุดเครื่องจักร ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ลดระดับสินค้าคงคลัง พร้อมพัฒนาระบบความปลอดภัยของการทำงานให้มากยิ่งขึ้น มากไปกว่านั้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการที่เรากำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐให้เกิดขึ้นได้จริงและสร้างประโยชน์ให้กับคน และประเทศชาติได้

7920

การติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “อินดัสเตรียล อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ อินดัสเตรียล ไอโอที (Industrial Internet of Things: IIoT) ของปูนซีเมนต์นครหลวง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนระบบงานแบบเดิมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก รวมถึงเอกสารที่เป็นกระดาษ พร้อมปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร โดยอาศัยการทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญผ่านการเชื่อมต่อระยะไกล (Remote Expert Collaboration) และเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning)

7922

ปูนซีเมนต์นครหลวงได้ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อ WiFi และความถี่วิทยุ (RF) ที่หลากหลายรุ่นตามจุดต่างๆ ภายในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรงงาน 3 โดยความร่วมมือจากฟูจิตสึ รวมถึงแอ็คเซสพอยต์ Cisco Aironet® 1532E จำนวน 374 เครื่องสำหรับการใช้งานภายนอกอาคาร และสวิตช์เครือข่าย Cisco® Industrial Ethernet (IE) 4000 Series จำนวน 40 เครื่อง จากซิสโก้ หลังจากที่ดำเนินการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ เครือข่ายดังกล่าวสามารถรองรับอุปกรณ์พกพาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อได้ทุกเวลา ด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ย 1.3-1.5
กิกะบิตต่อวินาที

องค์ประกอบสำคัญของโครงการ Digital Connected Plant  โรงงาน 3

Digital Connected Plant มีขั้นตอนในการดำเนินโครงการ 5 initiatives area ดังนี้

Picture

  • 1 Pervasive Network เงินลงทุน 80 ล้านบาท เป็นการติดตั้ง WiFi ทั่วทั้งพื้นที่ ที่มีเครื่องจักร เพื่อให้สามารถส่งผ่านข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น เสียง เอกสาร รูปภาพ และ VDO ได้ทุกพื้นที่
  • 2 Walk-By Inspection เงินลงทุน 7 ล้านบาท เป็นการนำเอาระบบ Digital มาแทนกระดาษ เพื่อช่วยให้มีการส่งข้อมูลที่เร็ว และถูกต้องขึ้น รวมถึงสามารถนำข้อมูลดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ในการประเมิน สถานะของเครื่องจักรได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
  • 3 Predictive Maintenance (Machine Learning) เงินลงทุน 27 ล้านบาท เป็นการนำระบบ AI หรือ Machine Learning มาใช้ในการประมวลผล ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจาก Sensor จาก CBM จาก SAP รวมถึงจาก Walk by inspection เพื่อนำมาประมวลผลและ ประเมิน สถานะของเครื่องจักร
  • 4 Contractor Management and Digital Safety เงินลงทุน 39 ล้านบาทเป็นการพัฒนาซอฟท์แวร์ และ ประยุกต์ใช้ sensor เพื่อช่วยให้การจัดการเรื่อง ผู้รับเหมาที่เข้ามาปฏิบัติงานในโรงงานมีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น รวมถึงระบบ Digital gate-in และ digital work permit จะช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้อย่างมาก รวมถึงมีความถูกต้อง และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลา
  • 5 Remote Operation Center & IT/OT เงินลงทุน 19 ล้านบาท ตัว ROC จะเป็นเสมือนศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงเป็นศูนย์รวมข้อมูลในการสั่งการ โดยข้อมูลจาก Initiative ทั้ง 4 ตัว ด้านบนจะถูกส่งมาที่ ROC นี้ รวมถึงข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาในอนาคตด้วย

“ด้วยความร่วมมืออย่างดีจาก ซิสโก้ ฟูจิตสึ เอส เค เอฟ และ นูทานิคซ์ เราสามารถติดตั้งและเริ่มงานเครือข่ายระบบโรงงานอัจฉริยะได้ก่อนเวลาที่กำหนดโดยที่ไม่มีผลกระทบในด้านคุณภาพ ทำให้ปูนซีเมนต์นครหลวงเป็นบริษัทอุตสาหกรรมบริษัทแรกที่นำอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things: IoT) มาใช้ และทำให้เรามีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศไทย”
ศิวะ กล่าว

7921

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า “ซิสโก้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรในการก้าวสู่ระบบโรงงานอัจฉริยะของปูนซีเมนต์นครหลวงในครั้งนี้ โดยโซลูชั่นของซิสโก้ด้าน Pervasive Wireless Network นี้ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบโครงข่ายเพื่อรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายและเซ็นเซอร์ IoT ภายในโรงผลิต ที่ช่วยในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มความปลอดภัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทอลสำหรับธุรกิจในอนาคต ถือเป็นกรณีศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งในประเทศไทย และในระดับภูมิภาค“

อิจิ ฟูรูคาวา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฟูจิตสึขอแสดงความยินดีกับปูนซีเมนต์นครหลวงกับความสำเร็จของโครงการโรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ และในฐานะที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของปูนซีเมนต์นครหลวงในการที่จะนำดิจิตอลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจให้การทำงานและการตัดสินใจมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานปูนซีเมนต์นครหลวงให้ดียิ่งขึ้นไป ฟูจิตสึมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับปูนซีเมนต์นครหลวงในครั้งนี้จะเป็นแรงพลักดันสำคัญสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศไทยพัฒนาสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0”

ณรงค์ นิมิตรมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เค เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เอส เค เอฟ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนสำคัญในโครงการ Digital Connected Plant ของปูนซีเมนต์นครหลวง ในฐานะที่ เอส เค เอฟ เป็นผู้นำโลกด้านการผลิตตลับลูกปืน เทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบเครื่องจักร รวมทั้งประสบการณ์ในการพัฒนาสมรรถนะของเครื่องจักรที่มีการหมุนต่อเนื่องยาวนานกว่า 100 ปี ด้วยนวัตกรรมและโซลูชั่นเทคโนโลยีดิจิตอลของเรา จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยสามารถบรรลุประสิทธิภาพการทำงานที่ดียิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความน่าเชื่อถือในการผลิตของโรงงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0”

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท นูทานิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “นูทานิคซ์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนปูนซีเมนต์นครหลวง ให้เป็น Smart Plant รายแรกของประเทศไทย เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยนูทานิคซ์ได้มีส่วนดูแล ปูนซีเมนต์นครหลวง ในด้านโครงสร้างพื้นฐานแบบคลาวด์สำหรับองค์กรที่มีความสำคัญต่อองค์กร ซึ่งประกอบด้วยระบบเวอร์ชวลไลเซชั่น ระบบการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูลดิจิตอลที่ต้องการความยืดหยุ่น เสถียรภาพ และการปรับขยายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต นูทานิคซ์หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและก้าวไปข้างหน้าไปพร้อมกับปูนซีเมนต์นครหลวง ต่อไป”

ระบบ โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ” (Digital Connected Plant) เป็นโครงการที่จะพัฒนาการทำงานซ่อมบำรุง (Maintenance) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เร็วขึ้น เชื่อถือได้มากขึ้น โดยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ด้านดิจิทัล และ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) มาพัฒนาและปรับใช้กับเครื่องมือ อุปกรณ์ และฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ทั้งทางด้านงานซ่อมบำรุง และการใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ และระบบควบคุมต่างๆ ในการวิเคราะห์ ประเมินสภาพเครื่องจักรและระบบการรายงานผล ที่ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสาร ทั้งทางเสียง รูปภาพ และวิดีโอให้รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ในโรงงาน

ประโยชน์หลักๆ ของระบบโรงงานอัจฉริยะ คือลดการสูญเสียจากการหยุดเครื่องจักรโดยไม่ได้วางแผน ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในแต่ละปี ลดระดับสินค้าคงคลัง เพิ่มระบบความปลอดภัยการทำงาน ลดระยะเวลาการทำงานพนักงานใหม่ เนื่องจากมีมาตรฐานและกระบวนการทำงานที่เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น เพิ่มความโปร่งใสในการจ่ายเงิน และ ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้รับเหมา ยิ่งไปกว่านั้น ปูนซีเมนต์นครหลวงจะใช้เครือข่ายนี้เป็นรากฐานสำหรับการติดตั้งโซลูชั่น อินดัสเตรียล ไอโอที (Industrial Internet of Things: IIoT) ในอนาคต เช่น ระบบตรวจสอบติดตามตำแหน่งที่ตั้งแบบเรียลไทม์ของพนักงาน ผู้รับเหมา และอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพงานในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้กับบุคลากรและเครื่องจักรภายในโรงงาน ความร่วมมือกับซิสโก้ และฟูจิตสึ ช่วยให้ปูนซีเมนต์นครหลวงสามารถพัฒนาระบบดิจิทัลที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจรที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด