October 6, 2024

บริษัทไอทีมาเลเซียดึง IoT ให้ข้อมูล “เกษตร-พลังงาน-ภัยพิบัติ”

บริษัทไอทีสัญชาติมาเลเซียเปิดตัว 3 โซลูชัน IoT หวังช่วยจัดการกับความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม การใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น  และการจัดการด้านการเกษตรให้ได้ผลิตผลที่ดีขึ้น

Chia Yong Wei ซีอีโอของ Microlink Solutions หนึ่งในบริษัทเครือ Omesti Group ผู้พัฒนาโซลูชันดังกล่าว เปิดเผยว่า ทั้ง 3 โซลูชันเป็นระบบบริหารจัดการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ ได้แก่ the Smart Environmental Management System, Smart Energy Management System และ Smart Plantation System

IoT_natural_-_GraphicStock_-_done_large

“เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก และช่วยให้มนุษย์เราสามารถอาศัยได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีช่องว่างในตลาดที่ยังต้องการโซลูชันด้าน IoT แบบเฉพาะทางอยู่อีกมากในอีกหลาย ๆ อุตสาหกรรม” Chia กล่าว

พร้อมกับเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บริษัทรับมือกับภัยธรรมชาติมาโดยตลอด ซึ่ง Chia เผยว่า Smart Environmental Management System หรือระบบบริหารจัดการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะนั้นจะเข้ามาช่วยจัดการเรื่องปัญหาน้ำท่วมให้กับธุรกิจได้ โดยจะเป็นตัวช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมตามพื้นที่ต่าง ๆ ของมาเลเซีย

“ในแต่ละปี มาเลเซียได้รับน้ำฝนเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตร ซึ่งปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่ามีมรสุมเข้าหรือไม่ ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเกิดน้ำท่วมก็จะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีชาวมาเลเซียประมาณ 15,000 คนในซาบาห์ และเปรักถูกน้ำท่วมในระดับรุนแรง ขณะที่เดือนมีนาคม กรุงกัวลาร์ลัมเปอร์ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน

Chia อธิบายว่า ในอนาคต ด้วยระบบ Smart Environmental Management System ของ Microlink นั้นทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และส่งข้อมูลของปริมาณน้ำฝน ความชื้น ระดับน้ำ ฯลฯ เข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อตรวจวัดค่าได้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ศูนย์กลางสามารถเตรียมรับมือ หรือหาทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที

“โซลูชันนี้่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดภัยพิบัติที่พื้นที่ใดจากข้อมูลที่ระบบเก็บมาได้ อีกทั้งการมีข้อมูลยังทำให้สามารถแจ้งเตือนแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที และในกรณีที่เกิดน้ำท่วม ระบบก็ยังสามารถส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ประสบภัย เช่น ภาพถ่ายแผนที่แบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย”

สำหรับระบบต่อไปอย่างระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (the Smart Energy Management System) นั้น Chia อธิบายว่า เกิดจากความต้องการใช้งานไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 4,074 กิโลวัตต์ต่อคนในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 4,194 กิโลวัตต์ในปี 2014 ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี หากมีระบบ Smart Energy Management System ที่สามารถมอนิเตอร์การใช้พลังงานจากทุกอุปกรณ์ในวงจรไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ และนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ก็จะทำให้ผู้บริหารอาคารสามารถทราบถึงการใช้พลังงานตามส่วนต่าง ๆ ของอาคารได้ดียิ่งขึ้น และโซลูชันนี้ยังทำงานได้ผ่านเว็บ และแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์โมบายล์ด้วย

“ทุกธุรกิจตอนนี้มีข้อมูล สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ โซลูชันด้าน IoT ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ๆ ได้ และช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ถูกต้องในการลดการสิ้นเปลืองพลังงาน” Chia กล่าว

ส่วนระบบสุดท้าย The Smart Plantation System ซึ่งเป็นระบบช่วยด้านการเพาะปลูกนั้น จะให้ข้อมูลกับเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ที่ได้จากอุปกรณ์ IoT เช่น อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ระดับความอุดมสมบูรณ์ในดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถควบคุมกระบวนการปลูกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากนั่นเอง

ทั้งนี้ Microlink มีแผนจะสร้างความตระหนักในการใช้งานโซลูชัน IoT ให้เกิดขึ้น และจะเปิดตัวกรณีศึกษาของธุรกิจที่นำไปใช้งานจริงในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา https://computerworld.com.sg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *