Gale กล่องปฐมพยาบาลยุค IoT
ต้องยอมรับว่า บ้านเรามีพื้นที่ทุรกันดารที่ความเจริญทางการแพทย์ยังเข้าไปไม่ถึงอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะที่แนวคิดเรื่องการใช้โดรนส่งเครื่องมือทางการแพทย์เข้าไปช่วยผู้ป่วยในพื้นที่ดังกล่าว หรือการใช้เทเลคอนเฟอเรนซ์ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากในเมืองแนะนำวิธีรักษาให้แพทย์ท้องถิ่นได้ลงมือปฏิบัตินั้นยังเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ทั่วถึงในบ้านเรา อีกซีกโลกหนึ่งก็ได้มีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจอย่างมากออกมาแล้ว ในชื่อว่า “เกล” (Gale) ซึ่งมาจากส่วนหนึ่งของชื่อนางพยาบาลผู้เสียสละอย่าง “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล” นั่นเอง
โดย Gale เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตไฮเทค ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “Clinic in a box” ฝีมือการพัฒนาของอดีตทีมพัฒนา iPod จากแอปเปิลอย่าง Ram Fish โดยเขาได้แรงบันดาลใจในการพัฒนามาจากการไปเที่ยวประเทศเม็กซิโกพร้อมกับครอบครัว เมื่อคืนหนึ่งขณะที่เขาและครอบครัวพักผ่อนอยู่ในเมืองชนบทที่ห่างไกลชื่อ Baja ลูกสาวคนหนึ่งของเขากลับประสบภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน แต่ในเมืองนั้นไม่มีคลินิคหรือสถานพยาบาลใด ๆ ให้เขาพาลูกสาวไปพบแพทย์ได้เลย จนในที่สุดเขาตัดสินใจโทรศัพท์ไปปรึกษา Kaiser ซึ่งที่นั่นมีนางพยาบาลที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลลูกสาวของเขา เธอจึงรอดมาได้อย่างปลอดภัย
จากเหตุการณ์ในวันนั้น Ram Fish เห็นถึงปัญหาสำคัญของพื้นที่ทุรกันดาร เขาจึงใช้เวลา 15 เดือนปลุกปั้นสตาร์ทอัปชื่อ 19Labs ขึ้นมาพร้อม ๆ กับนำเสนอสิ่งประดิษฐ์อย่าง Gale ออกมาได้ในที่สุด
เปิดกล่อง Gale
หลายท่านอาจอยากรู้แล้วว่า เจ้ากล่อง Gale นี้สามารถทำอะไรได้บ้าง Gale นั้นมีฝาเปิดที่เมื่อเปิดขึ้นมาก็จะมีหน้าจอทัชสกรีนพร้อมผู้ช่วย (Voice Agent) ที่มีคำแนะนำให้ผู้ใช้ประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยที่มีหลากหลาย ตั้งแต่ถูกงูกัดไปจนถึงหัวใจทำงานผิดจังหวะ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถทำตามได้แม้ว่าจะไม่มีความรู้ทางการแพทย์เลย เช่น เป็นพ่อแม่ คุณครูในโรงเรียน หรือผู้สูงอายุ
โดยคำแนะนำต่าง ๆ ที่ปรากฏบนหน้าจอทัชสกรีนนั้นเป็นผลงานการพัฒนาของ 19Labs ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมีการจดลิขสิทธิ์เอาไว้เรียบร้อย
นอกจากนั้น ผู้ใช้งานยังสามารถต่อสายตรงจากหน้าจอไปหาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำได้ (ระบบมีการผูกบริการไว้กับ บริษัทผู้ให้บริการทางการแพทย์ชื่อ Amwell) ซึ่งสามารถรับบริการได้ด้วยการกดปุ่มใหญ่ ๆ ที่อยู่หน้ากล่องเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยเจ้าปุ่มนี้สามารถตั้งค่าให้โทรไป 911 หรือคอลล์เซนเตอร์ด้านสุขภาพก็ได้เช่นกัน
ส่วนกล่องใส่ของด้านล่างของ Gale มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่าง ๆ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอล เครื่องวัดคลื่นหัวใจไฟฟ้า เครื่องเก็บตัวอย่างเลือด เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดและชีพจร ชุดตรวจหู โดยอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เซนเซอร์ในการวัดค่า ที่พร้อมส่งข้อมูลของผู้ป่วยผ่านเครือข่ายไปยังศูนย์การแพทย์ได้ทันที
Gale ยังรองรับเครือข่าย 4G ในการส่งข้อมูลจากพื้นที่ห่างไกล (เพียงแต่ว่าจะมีพื้นที่ห่างไกลสักกี่มากน้อยที่สัญญาณ 4G เข้าถึง) และมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ดี Ram Fish ยังไม่มีการเปิดเผยราคาของ Gale ออกมาให้ทราบ ซึ่งจากเทคโนโลยีที่ใส่รวมอยู่ในเครื่องนั้นทำให้เชื่อได้ว่า ราคาของ Gale น่าจะสูงพอสมควร แต่เขาหวังว่าการผลิตในปริมาณมากจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยนั้นต่ำลง จนทำให้สามารถซื้อไว้ในตามบ้าน โรงเรียน หรือออฟฟิศสำนักงานได้
โดยในตอนนี้ Gale อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพในเซาท์ดาโกต้า และแคนาดา โดยหากผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ เราก็น่าจะได้เห็น Gale ออกวางตลาดให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้ซื้อหาไปใช้กันแน่นอน
ที่มา https://www.fastcompany.com/