November 24, 2024

สุดยอดไอเดีย ราชภัฏภูเก็ต พัฒนา “ชุดผลิตกระแสไฟฟ้าจากคอมเพรซเซอร์แอร์”

ด้วยอาณาบริเวณของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตกว่า 300 ไร่ ที่มีอาคารสถานที่จำนวนหลายสิบหลัง พร้อมทั้งมีบุคลากร นักศึกษากว่าหมื่นคน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยต้องจ่ายสูงถึงประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเครื่องปรับอากาศ (แอร์คอนดิชั่น) จำนวน 1,200 เครื่อง เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้สิ้นเปลืองการใช้พลังงาน แต่ด้วยมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางแห่งการวิจัยและพัฒนา จึงมีการคิดค้นและศึกษาค้นคว้าประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในหลายชิ้นงานนั้นมีนักประดิษฐ์นวัตกรรมคนเก่ง คือ “ดร.สุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว” อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน และรองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏภูเก็ต เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการพลังงานทดแทน และถูกเลือกให้ติดทำเนียบนักประดิษฐ์ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานการคิดค้นและพัฒนา “ชุดผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนคอมเพรสเซอร์แอร์คอนดิชั่น”

003

นักประดิษฐ์จากคณะมนุษยศาสตร์ฯ กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานว่า “สถานการณ์ด้านพลังงานของ ม.ราชภัฏภูเก็ต โดยเฉพาะการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัว จึงเกิดโจทย์ในการแสวงหาพลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้จากการสังเกตระบบระบายอากาศเครื่องคอมเพรซเซอร์แอร์ฯ มีกังหันลมที่ทำหน้าที่พัดเอาความร้อนออกจากตัวเครื่อง ทั้งนี้ทราบกันดีว่าพลังงานลม Wind Energy เป็นพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่งที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งพลังงานดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ นับเป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานที่ศูนย์เปล่า นำมาแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า จึงได้คิดค้นชุดเครื่องมือขึ้นมาโดยนำพลังงานลมร้อนมาหมุนชุดกังหันลมที่ติดตั้งภายนอกคอมเพรซเซอร์เพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า

001
ดร.สุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน และรองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

 

002

ผู้สร้างนวัตกรรมด้านพลังงาน เล่าต่อว่า “สำหรับชุดผลิตไฟฟ้าฯ สามารถดึงพลังงานลมจากคอมเพรซเซอร์แอร์ฯ 1 เครื่องในขณะที่ใช้งาน เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าคิดเป็นหลอดไฟความสว่าง 3 วัตต์ ได้มากถึง 4 ดวง กล่าวคือในขณะที่มหาวิทยาลัยเปิดแอร์ฯ 1,200 เครื่อง ก็จะได้หลอดไฟส่องสว่างอีก 4,800 ดวง โดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มเติม ซึ่งหากนำเครื่องมือไปติดตั้งทุกอาคารจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมหาศาล สำหรับการพัฒนาของชุดผลิตไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์ ได้รับการรับรองด้านคุณภาพและประโยชน์ในการใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพจาก วช. นอกจากนั้นยังต้องการให้ชุมชนนำเครื่องมือชิ้นนี้ไปใช้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งเป็นการปลูกฝังค่านิยมในการลดการใช้พลังงาน และแสวงหาพลังงานทางเลือกมาใช้ทดแทน ซึ่งถือเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัยในการบริการวิชาการและพัฒนาท้องถิ่น”

004
ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต (ซ้าย)

ด้าน ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต กล่าวชื่นชมถึงนวัตกรรมอันทรงคุณค่าชิ้นนี้ว่า “มหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น Green University ซึ่งประเด็นด้านพลังงานเป็นวาระเร่งด่วนในการดำเนินงาน จึงทำให้ผลงานประดิษฐ์ของ ดร.สุพัฒนชัย สามารถตอบโจทย์องค์กร และนำมาใช้งานได้โดยทันที สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคณาจารย์ นักศึกษา ในขณะนี้มีสถาบันการศึกษาขอนำชุดผลิตไฟฟ้าฯ ไปติดตั้งในองค์กรเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า รวมถึงมีหน่วยงานภาคเอกชนติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ทางปัญญาเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป จากความสำเร็จในครั้งนี้ช่วยตอกย้ำถึงภารกิจในการพัฒนาผลงานวิจัยสร้างสรรค์เพื่อยกระดับท้องถิ่นได้อย่างเป็นที่ประจักษ์

นอกจากสิ่งประดิษฐ์สุดชาญฉลาดที่เปลี่ยนพลังงานที่สิ้นเปลืองให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าเกิดประโยชน์อย่างน่าทึ่ง มหาวิทยาลัยยังได้นำหลักการไปบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนเพื่อสร้างทักษะและองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนให้กับนักศึกษา และประชาชน ได้ตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานในองค์กร ต่อเนื่องไปจนถึงระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศต่อไป เพราะว่า “พลังงานทดแทน จะช่วยให้ประเทศชาติไปรอดได้ในวิกฤติพลังงาน และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

สนใจสอบถามข้อมูล ดร.สุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว โทร 087 213 6122 อีเมล poolom99@gmail.com

ที่ม่า : มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *