ยกระดับท่าเรืออัจฉริยะให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยี 5G ผนวกระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติขั้นสูงระดับ 4L
ปัจจุบัน “เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็นสิ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลในแต่ละท้องถิ่นได้มีนโยบายตอบสนองการก้าวผ่านสู่ “เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว” โดยนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งรวมถึงภาคการขนส่งหรือโลจิสติกส์
ปัจจุบันระบบการขนส่งทางน้ำของประเทศจีนถือว่ามีประสิทธิภาพและความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และจะสังเกตได้ว่าประเทศจีนเป็นประเทศแรก ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในช่วงปี2021 ภาคธุรกิจในส่วนของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศจีนยังคงรักษาทิศทางการฟื้นตัว และการขนส่งในภาพรวมขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับท่าเรือเทียนจิน ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบการขนส่งทางน้ำที่สำคัญของจีนที่มีความหนาแน่นของปริมาณสินค้าที่เข้าออก ปัจจุบันท่าเรือแห่งนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในท่าเรือที่ล้ำยุคที่สุดของประเทศจีน โดยเป็นความร่วมมือของบริษัท เทียนจิน พอร์ต (กรุ๊ป) จำกัด (TPG) ร่วมกับหัวเว่ยและบริษัทพันธมิตร ในการสร้างท่าเรืออัจฉริยะที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งชานชาลาของท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ในเขต C ของท่าเรือเทียนจิน ได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำงานแบบอัตโนมัติ และรถบรรทุกไฟฟ้าไร้คนขับที่เข้า-ออกท่าเรืออย่างสม่ำเสมอ ภายในท่าเรือยังมีเครนที่ควบคุมจากระยะไกล ที่ใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากเรือบรรทุกสินค้ามายังรถบรรทุกไฟฟ้าไร้คนขับ จากนั้นรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จะขับไปยังจุดหมายที่ตั้งไว้โดยอัตโนมัติ โดยใช้ระบบนำทางผ่านดาวเทียมเป่ยโต่ว (BeiDou) ซึ่งจะคำนวณเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดให้แบบเรียลไทม์ เพื่อไปยังจุดส่งสินค้า และจบการเดินทางที่ลานตู้คอนเทนเนอร์ เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการขนส่งที่ไร้รอยต่อตั้งแต่ต้นจนจบ
หนึ่งในนวัตกรรมสำคัญของท่าเรือแห่งนี้คือระบบขนส่งแนวราบอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี AI ที่หัวเว่ยพัฒนาขึ้น นับเป็นนวัตกรรมที่สร้างปรากฏการณ์ “ครั้งแรก” ในระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับระดับ 4L กับท่าเรือเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการบูรณาการ “เทคโนโลยี 5G และระบบนำทางผ่านดาวเทียม BeiDou” และยังเป็นครั้งแรกของโลกของท่าเรือที่ใช้พลังงานสะอาด และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เป็นต้น ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้แก่ท่าเรืออื่น ๆ ในระดับโลกที่มุ่งสร้างท่าเรืออัจฉริยะและปล่อยคาร์บอนต่ำต่อไป
การปรับให้ท่าเรือมีความชาญฉลาดและนำระบบดิจิทัลมาใช้นั้นส่งผลดีต่อการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปยังลานตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือจะต้องใช้รถบรรทุกจำนวนมาก ซึ่งการใช้แรงงานจากคนขับรถยังมีค่าใช้จ่ายสูง ในกรณีของท่าเรือเทียนจิน ปัจจุบันมีรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 76 คัน ซึ่งรถแต่ละคันต้องการคนขับจำนวน 3 คน สำหรับการทำงาน 3 กะต่อวัน เพื่อรองรับการการดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง เท่ากับว่าต้องใช้คนขับรถทั้งหมด 210 คน นอกจากนี้คนขับรถที่เหนื่อยล้ากับการขับรถในเส้นทางเดิม ๆ ทุกกะ จะก่อให้เกิดอันตรายได้ ด้วยระบบใหม่นี้ คอนเทนเนอร์แต่ละตู้จะใช้พลังงานในการขนส่งน้อยลง 20% และยังเพิ่มประสิทธิภาพของเครนโดยเฉลี่ยถึง 20% โดยเครนแต่ละตัวสามารถยกตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 39 ตู้ต่อชั่วโมง ซึ่งการนำเทคโลโนยีมาประยุกต์ใช้ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่หนึ่งคนสามารถควบคุมอุปกรณ์ได้มากกว่า 1 ชิ้น และปัจจัยสำคัญคือสามารถช่วยลดความเสี่ยงในพื้นที่ทำงานและลดอุบัติเหตุที่อาจจะอันตรายถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่
ปัจจุบันท่าเรือเทียนจินถือเป็นหนึ่งในท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญตามโครงการ One Belt One Road ด้วยท่าเทียบเรือที่สามารถขนส่งสินค้าได้กว่า 300,000 ตัน พร้อมความลึก -22 เมตร มีท่าเทียบเรือแยกตามประเภทต่าง ๆ รวม 192 ท่า และมีท่าเทียบเรือถึง 128 ท่าที่รองรับการขนส่งสินค้ามากกว่า 10,000 ตัน โดยในช่วยสิ้นปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ท่าเรือเทียนจินมีปริมาณสินค้าเข้าออกผ่านท่าเรือกว่า 435 ล้านตัน หรือมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ในขณะที่ปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์นั้นมีมากกว่า 18.35 ล้าน TEU (หนึ่งหน่วยของตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) หรือมากเป็นอันดับ 8 ของโลก
ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าเรืออัจฉริยะเทียนจิน และเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ที่นี่: วิดีโอภาพรวมของท่าเรืออัจฉริยะเทียนจิน และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ (ภาษาอังกฤษ) หรือ วิดีโอภาพรวมของท่าเรืออัจฉริยะเทียนจิน และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ (ภาษาไทย)