November 24, 2024

วิศวะมหิดล จัดแข่งขันเยาวชนปฎิบัติการปัญญาประดิษฐ์ AI Plus เพื่อชีวิตยั่งยืน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี พร้อมด้วย ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม และ ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จัดงาน“แข่งขันฝึกปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) PLUS ที่ยั่งยืน” ภายใต้โครงการ”การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนด้วยทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 5.0 AI PLUS”

โดยมีเยาวชนไทยระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเข้าร่วมงานคึกคัก คิดค้นผลงานที่ตื่นตาด้วยพลังสร้างสรรค์ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กิจกรรม “แข่งขันฝึกปฎิบัติการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) PLUS ที่ยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับและเสริมความแข็งแกร่งในการเรียนการสอน STEM ด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ทั้งพัฒนาองค์ความรู้ เปิดโอกาสให้เยาวชนพัฒนาศักยภาพในทักษะปฏิบัติจริงด้านเทคโนโลยี AI  สามารถนำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดในอนาคตได้ โดยมีเยาวชนนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 10 โรงเรียน ประกอบด้วย ร.ร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัยนครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) ร.ร.พระปฐมวิทยาลัย ๒ หลวงพ่อเงินอนุสรณ์ ร.ร.เทศบาล ๕ วัดพระปฐมเจดีย์ ร.ร.เพิ่มวิทยาคม ร.ร.สารสิทธิ์พิทยาลัย ร.ร.เทศบาล ๒ วัดเสน่หา (สมัครพลผดุง) ร.ร.คลองบางกระทึก ร.ร.บ้านหอมเกร็ด ร.ร.บุญยศรีสวัสดิ์ และร.ร.วัดประชานาถ ร.ร.เทศบาลปลายบางวัดโบสถ์ และ ร.ร.ราษฎร์บำรุงวิทยา

อาจารย์วรวิทย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าก่อนหน้านี้ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้จัดกิจกรรมอบรมครูจากโรงเรียนต่างๆ ให้มีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี 5.0 และ AI อาทิ การเขียนโปรแกรม Kidbright การสาธิตโปรแกรม AI การทดลองสร้างโปรแกรม AI เป็นต้น โดยครูจะนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่เยาวชนนักเรียน เป็นผลให้เกิดประสบการณ์ใหม่ การเตรียมทักษะความพร้อมแก่เยาวชนและเกิดความตื่นตัวในการร่วมงาน “แข่งขันฝึกปฎิบัติการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) PLUS ที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะวิศวะมหิดล สำหรับกติกาการแข่งขันครั้งนี้ แต่ละทีมนักเรียน ไม่เกิน 8 คน วิเคราะห์เลือกปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน และนำหลักการทาง AI มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา พร้อมทั้งสร้างต้นแบบนวัตกรรมโดยตัวแทนของทีมนักเรียน จะต้องนำเสนอผลงานในรูปแบบการ Pitching ภายในเวลา 5 นาที และตอบคำถามอีก 5 นาที พร้อมสาธิต ส่วนแนวทางการตัดสิน พิจารณาจากแรงบันดาลใจที่มาของโครงงาน การเลือกใช้เทคโนโลยี AI เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม การนำเสนอผลงาน การตอบคำถาม และคุณภาพโดยรวมของโครงงาน

ผลการแข่งขัน มีดังนี้

น้องณัชพล วารินทร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ตัวแทนทีมร.ร.สารสิทธิ์พิทยาลัย ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ ผลงานดีเด่น และรางวัล Popular Vote จากผลงาน “ถังขยะอัจฉริยะ”  กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่เราออกแบบเป็นสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว เนื่องจากถังขยะส่วนใหญ่มักไม่มีฝาปิด หรือฝาถังมักชำรุด มีรอยแตกร้าว จึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและส่งกลิ่นเหม็น ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขอนามัย จึงมีแนวคิดในการประดิษฐ์ “ถังขยะอัจฉริยะ” เพื่อลดการสัมผัส โดยถังขยะสามารถเปิดปิดอัตโนมัติด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์และเซนเซอร์ ตรวจจับความเคลื่อนไหวอัลตร้าโซนิค และสามารถป้องกันการแพร่เชื้อโรคจากการสัมผัสถังขยะได้ นอกจากนี้ หากปริมาณขยะเต็มจะมีเสียงเตือน ประโยชน์ช่วยเพิ่มความสะดวก ส่งเสริมสุขอนามัยและรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด และเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชน

ด้าน น้องอุไรพร หงษ์ลอย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนทีมร.ร.บุญยศรีสวัสดิ์ ซึ่งได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ จากผลงาน “รถตู้กู้ชีวิต” กล่าวว่า การลืมเด็กเล็กไว้ในรถเป็นข่าวที่น่าสะเทือนใจบ่อยครั้ง เราต้องการแก้ปัญหาการที่มีนักเรียนเด็กเล็กติดค้างอยู่บนรถจนได้รับอันตรายถึงชีวิต จึงมีแนวคิดทำโมเดล รถตู้กู้ชีวิต โดยใช้ AI ให้สามารถนับจำนวนนักเรียน ทั้งขาขึ้นและขาลง ผ่านกล้อง หาก AI คำนวณจำนวนนักเรียนในขาขึ้นและขาลงได้ไม่เท่ากัน จะมีข้อความเตือน เสียงเตือนและแสดงสัญญาณไฟให้เห็นชัดทันทีประโยชน์ช่วยให้นักเรียนเด็กเล็กมีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายผลงานที่สะท้อนพลังเยาวชนไทยเปี่ยมประกายสร้างสรรค์เพื่อชีวิตและสังคมยั่งยืนได้อย่างน่าสนใจ อาทิ 1. เครื่องตรวจจับเสียงรบกวนในห้องสอบ เพื่อลดและป้องกันการลอกข้อสอบในร.ร. โดยจะส่งเสียงเตือนและไฟกระพริบ 2. ห้องเรียนประหยัดพลังงาน เพื่อโรงเรียนที่ยั่งยืน  3. ระบบรดน้ำอัตโนมัติ ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดน้ำ และแก้ปัญหาขาดแรงงานหรือเมื่อต้องอยู่ภายนอกพื้นที่ โดยหากตรวจพบว่าระดับความชื้นไม่เพียงพอ จะแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อสั่งรดน้ำต้นไม้  4. Automatic Light ระบบไฟเปิดอัตโนมัติ ช่วยแก้ปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและฤดูกาล ซึ่งทำให้แสงสว่างไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้  5.กัน ก่อน ท่วม ระบบเซนเซอร์ตรวจระดับน้ำในแหล่งน้ำ หากใกล้ขีดอันตราย จะแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ระบบ AI จะสั่งให้ปั๊มสูบน้ำทำงาน 6. IoT SAVING LIFE  เอ.ไอ.นับจำนวนนักเรียน ในยานพาหนะ 7. SELF PORTRAIT ระบบเปิด-ปิดไฟผ่านไลน์ โดยอาศัยการทำงานของ NODE-Red ร่วมกับ CloudMQTT  8. Smart Technology ไฟเซนเซอร์อัจฉริยะในร.ร.สำหรับระบบเปิดปิดไฟและป้ายไฟวิ่งประชาสัมพันธ์ของ ร.ร.