วิศวะมหิดล จัด 2 กิจกรรมเสริมทักษะ IoT & AI …เปิดโลกทัศน์พัฒนานักเรียนไทยสู่ยุค 5.0
เยาวชนไทยก้าวไปกับดิจิทัลและเทคโนโลยี…คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) นำโดย ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม และ ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จัด 2 โครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโลกทัศน์พัฒนานักเรียนไทยสู่ยุค 5.0 ถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะการลงมือปฏิบัติในการใช้เทคโนโลยี IoT และ AI เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง
โครงการแรก “ยกระดับโรงเรียนด้านเทคโนโลยี IoT สู่นวัตกรรมการศึกษาที่ยั่งยืน” ณ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) โดย ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้นักเรียนรู้และเข้าใจถึงเทคโนโลยีด้าน IoT ในเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในการพัฒนาระบบ IoT ตลอดจนการเชื่อมต่อโปรแกรมและ Sensor Modules รวมถึงการพัฒนาโปรแกรม โดยใช้ MQTT Protocol ไปยังแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อการควบคุม โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ อ.วรวิทย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อ.ชัยชนิตถ์ ชาญศิลปกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.สุปรีย์ บูรณะกนิษฐ ในการถ่ายทอดให้ความรู้
ทั้งนี้ได้เปิดให้เยาวชนได้มีประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติจริง โดยได้จัดการแข่งขัน ในหัวข้อ “เทคโนโลยี IoT สู่นวัตกรรมการศึกษาที่ยั่งยืน” นักเรียนแบ่งกลุ่มคิดโครงงานและนำเสนอผลงาน พร้อมทั้งสาธิตแก่คณะกรรมการ ผลการแข่งขัน มีดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่ม The Manager จากผลงาน เครื่องให้อาหารสัตว์ IoT จำลอง โดยมีกระบอกใส่อาหารเม็ด และ Servo ควบคุมการปล่อย สั่งผ่านสมาร์ทโฟน และตรวจสอบว่าอาหารเม็ดใกล้จะหมดหรือไม่ พร้อมฟังก์ชันการแจ้งเตือน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กลุ่มแฟนคลับโจอี้ จากผลงาน ระบบช่วยเหลือการสื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยการเตือนผ่านแสงสีในหอพัก โดยการจำลองนั้นจะใช้แผงวงจร Kidvbright (KB) จำนวน 3 แผงวงจร แผงวงจรที่ 1 จะอยู่ที่ห้องผู้ดูแลหอหัก แผงวงจรที่ 2 และ 3 อยู่ในห้องผู้บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งจะสามารถเตือนด้วยการกระพริบด้วยแสง หรือ เปลี่ยนสี ไปตามกรณีต่างๆ เช่น มีผู้มาติดต่อ มีเหตุภัย (Alarm) เป็นต้น โดยสามารถดูผ่านสมาร์ทโฟนได้
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กลุ่ม Punchinatomy จากผลงาน Microgreen IoT System เป็นระบบการเพาะเลี้ยงพืชแบบ ไมโครกรีน ผ่านสมาร์ทโฟน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 กลุ่ม The Nerd Hurt จากผลงาน ระบบตรวจจับ วาวล์ก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบว่ามีการรั่วซึมหรือไม่ หากมีหรือลืมเปิดทิ้งไว้ ก็จะมีการแจ้งเตือนผ่านมือถือ และสั่งการตัดวาวล์จ่ายก๊าซ โดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซ ร่วมกับ เซอร์โวมอเตอร์ และเซ็คความสว่างของเปลวไฟด้วย โฟโต้รีซีสเตอร์ (LDR) ซึ่งทำหน้าที่แปรผันตามแสงร่วมกับบอร์ด Kidvbright (KB)
- รางวัล Popular Vote กลุ่มควบคุมการเปิดปิดหน้าต่าง จากผลงาน การจำลองบานหน้าต่าง เป็นโมเดลจำลองการตรวจสอบสถานะของหน้าต่าง และสามารถสั่งให้หน้าต่างปิดหรือเปิดได้ผ่านสมาร์ทโฟน ในกรณีลืมเปิดหน้าต่างไว้ หรือมีฝนตก ซึ่งจะทำงานร่วมกับแผงวงจร Kidvbright (KB) และเซนเซอร์ตรวจการเปิดปิดของหน้าต่าง รวมทั้งเซนเซอร์วัดความชื้น
ส่วนอีกโครงการ คือ “เสริมทักษะพัฒนา IoT & AI เพื่อเปิดโลกทัศน์เด็กไทยสู่ยุค 5.0” จัดขึ้น ณ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ) เป็นหลักสูตรเบื้องต้นในการเสริมสร้างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เข้าถึง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี IoT & AI โดยสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีการนิยมใช้อุปกรณ์ Smart Device กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความฉลาดและฟังก์ชั่นที่หลากหลาย เหล่านี้เป็นความสามารถของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกเขียนและพัฒนาให้มีความฉลาด สามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้ ร่วมกับ เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ที่ช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลาง ทำให้สามารถสั่งการ ควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ เช่น การใช้สมาร์ทโฟนควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิด ปรับอุณหภูมิ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ได้อย่างสะดวกสบาย หรือ รองเท้าวิ่งที่เชื่อมต่อข้อมูลการวิ่ง ทั้งความเร็ว ระยะทาง สถานที่ และสถิติได้ เป็นต้น