ผู้เชี่ยวชาญชี้การปรับตัวของซัพพลายเชนจะยังคงอยู่ถึงปี 2573
ซัพพลายเชนทั่วโลกยังคงหยุดชะงักเมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เข้าสู่ปีที่สาม และวิกฤตในยุโรปทำให้เกิดความโกลาหลในการขนส่งระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย โดยมาร์ก มิลลาร์ (Mark Millar) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่าความวุ่นวายดังกล่าวเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ หันมาประเมินการจัดหาและการผลิตของตนอีกครั้ง โดยจะพิจารณาถึงแนวทางในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ เขายังคาดว่าการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่นี้จะคงอยู่ในปี 2568 ถึง 2573 ซึ่งบางธุรกิจจะย้ายฐานการผลิตมาใกล้ ๆ กับประเทศของตน หรือไม่ก็ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศของตน
มิลลาร์เป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นที่รู้จักระดับสากลในด้านกลยุทธ์โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ด้วยประสบการณ์ทางธุรกิจระดับโลกกว่า 30 ปี เขาเป็นวิทยากรที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่องระบบนิเวศห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain Ecosystems) ทั้งนี้ เขาจะขึ้นเวทีแสดงทัศนะในการสัมมนาผ่านเว็บที่จัดโดยดิจิไทมส์เอเชีย (DIGITIMES Asia) ในวันที่ 25 สิงหาคม หัวข้อ “การตัดสายการผลิตให้สั้นลง การปฏิรูปซัพพลายเชนทั่วโลกในยุคหลังการระบาดใหญ่” (From Long Chains to Short Chains: Reforming Global Supply Chains in the Post-Pandemic Era)
คุณมิลลาร์เปิดเผยว่า โลกส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาความโกลาหลในห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่บางภูมิภาคกำลังฟื้นตัว ยิ่งห่วงโซ่อุปทานขยายไปทั่วโลกมากขึ้นเท่าใด การหยุดชะงักก็จะยิ่งกระจายมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่บริษัทต้องเผชิญในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะยิ่งเมื่อประเมินจากปัญหาที่กำลังประสบอยู่ ซึ่งมิลลาร์อธิบายว่าเป็นเหตุการณ์ “หงส์ดำ” (black swan)
เขากล่าวว่าในช่วงปี 2564 มีตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 1 ล้านตู้ที่ขนส่งจากตะวันออกโดยทางรถไฟ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ไปยังยุโรปตะวันตก เนื่องมาจากความแออัดอย่างมากในภาคการขนส่งสินค้าทางทะเล
เส้นทางเหล่านี้ส่วนใหญ่ผ่านรัสเซียแต่ขณะนี้ใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น บริษัทขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จึงต้องหาพื้นที่สำหรับตู้คอนเทนเนอร์บนเรือ ซึ่งเดิมทีก็เต็มความจุอยู่แล้ว
เมื่อว่ากันในวงกว้างแล้ว วิกฤตในยุโรปส่งผลกระทบต่อการหาน้ำมันและก๊าซมาใช้ และทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น โดยคุณมิลลาร์กล่าวว่าสถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อเครือข่ายการขนส่งที่อยู่เบื้องหลังซัพพลายเชนทั่วโลก
ภาคธุรกิจแห่ย้ายการผลิตมาใกล้ ๆ และย้ายการผลิตกลับประเทศตัวเอง
แล้วบริษัทต่าง ๆ ทำอะไรได้บ้างเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ แม้สิ่งที่กำลังจะพูดถึงอาจจะดูโหลไปแล้ว แต่คุณมิลลาร์ยืนยันว่า การทำงานร่วมกันระหว่างคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานเป็นวิธีที่ปฏิบัติได้จริง เพื่อก้าวผ่านวิกฤติในระยะสั้นและระยะกลาง ยกตัวอย่างเช่น การหาแหล่งที่มาอื่น ๆ เป็นตัวเลือกเสริม หรือเส้นทางการขนส่งอื่น ๆ ที่อาจมีต้นทุนแพงกว่าแต่ช่วยให้ส่งสินค้าไปยังปลายทางสุดท้ายได้
ในระยะกลาง มิลลาร์กล่าวว่าการหยุดชะงักดังกล่าวได้สร้างโอกาสในการประเมินใหม่หลังจาก 30 ปีของโลกาภิวัตน์ ตัวอย่างเช่น บริษัทต่าง ๆ อาจต้องการใช้แนวทางในระดับภูมิภาคมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะสร้างความยืดหยุ่นมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของตนและลดการปล่อยมลพิษ
อันที่จริง ภาคธุรกิจก็ได้เริ่มปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนใหม่กันบ้างแล้ว ซึ่งคุณมิลลาร์กล่าวว่าบางบริษัทกำลังมองหาวิธีหรือกำลังลงมือย้ายฐานการผลิตมาใกล้ขึ้น (nearshoring) โดยย้ายการจัดหาและการผลิตให้ใกล้กับตลาดปลายทางสุดท้าย หลายแห่งกำลังพิจารณาที่จะย้ายการจัดหาและการผลิตกลับไปยังปลายทางสุดท้าย ซึ่งก็คือ reshoring หรือที่รู้จักกันว่า on-shoring
“เราจะได้เห็นซัพพลายเชนปรับเปลี่ยนในลักษณะที่มีความเป็นภูมิภาคมากขึ้น” มิลลาร์กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เสริมว่า เมื่อมองสถานการณ์ในยุโรปแล้ว โปแลนด์ ตุรกี และแม้แต่บางประเทศในแอฟริกาเหนือที่มีกำลังแรงงานต้นทุนต่ำและอยู่ใกล้กับยุโรปในเชิงภูมิศาสตร์ ล้วนเป็นแหล่งที่เหมาะจะเป็นจุดที่จะย้ายฐานการผลิตให้ใกล้กับปลายทาง
การจัดหาและการผลิตยังคงแข็งแกร่งในเอเชีย
เมื่อภาคธุรกิจแห่ย้ายการผลิตมาใกล้ ๆ ปลายทาง และย้ายกลับประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ก็เกิดคำถามว่า การปรับตัวของซัพพลายเชนจะกระทบบทบาทของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ในการเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตหรือไม่
คุณมิลลาร์คาดการณ์ว่า เอเชียไม่น่าจะเผชิญกับการไหลออกมากนักด้วยเหตุผลหลายอย่าง โดยจะมีการย้ายการผลิตออกจากจีนหรือเอเชียเพียงส่วนเดียว เพราะซัพพลายเชนบางแห่งมีความซับซ้อนและได้รับการปรับแต่งมาอย่างดี ซึ่งการย้ายที่ตั้งใหม่อาจใช้ต้นทุนมากและมีความเสี่ยงสูง
นอกจากนี้ การเติบโตของชนชั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมาจากเอเชียจนถึงอย่างน้อยปี 2573 โดยมิลลาร์กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นนี้จะชดเชยผลกระทบจากการย้ายออกจากเอเชียเพื่อทำ nearshoring ที่อื่นได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นการผลิตและการจัดหาซัพพลายเชนในเอเชียจะยังคงแข็งแกร่งเพื่อรองรับภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้ใช้กลยุทธ์การหมุนเวียนแบบขนาน เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจจีนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น นโยบายดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันเพิ่มเติมในการส่งเสริมการผลิตในประเทศจีน
คุณมิลลาร์สรุปว่า การเคลื่อนไหวที่แท้จริงของการปรับห่วงโซ่อุปทานใหม่ทั่วโลกจะปรากฏชัดตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2573 ซึ่งนอกจากการ nearshoring และ reshoring แล้ว บริษัทต่าง ๆ จะมุ่งเน้นซัพพลายเชนในจีนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาขายในจีน ตามกลยุทธ์ “ในจีนเพื่อจีน” นอกจากนี้ การกระจายความเสี่ยงไปทั่วเอเชียจะส่งผลให้เกิดกลยุทธ์ไชน่าพลัส (China-Plus) ซึ่งสร้างห่วงโซ่อุปทานที่สร้างขึ้นในเอเชียสำหรับเอเชีย
คุณมิลลาร์กล่าวว่า CEO และ CFO ของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่บางรายมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เรื่องห่วงโซ่อุปทาน ทิศทางซัพพลายเชนในอนาคตจะยังคงเป็นประเด็นที่ห้องประชุมผู้บริหารจะหยิบไปพูดถึงกันต่อไป และผลลัพธ์จะค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
“ภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในปี 2573 จะค่อนข้างแตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยในทศวรรษที่ผ่านมา” มิลลาร์กล่าวเสริม
ขอเชิญเข้าร่วมการสัมมนาผ่านเว็บ DIGITIMES Supply Chain Webinar และร่วมพูดคุยเกี่ยวกับซัพพลายเชนปี 2568 โดยส่องผลกระทบจากโควิด และสำรวจว่าการปรับตัวของภาคโลจิสติกส์และภูมิรัฐศาสตร์จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของซัพพลายเชนหลังเกิดโรคระบาดอย่างไร
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสัมมนานี้ได้ที่ https://reurl.cc/1Znv1W
ขอเชิญเข้าร่วมการสัมมนาผ่านเว็บเกี่ยวกับซัพพลายเชนของดิจิไทมส์เอเชีย ในวันที่ 25 สิงหาคม: การปฏิรูปซัพพลายเชนทั่วโลกในยุคหลังการระบาดใหญ่ (DIGITIMES Asia)