November 23, 2024

ETDA ประกาศคู่มือใหม่! คุมเข้ม ‘มาตรฐานสินค้า’ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มความมั่นใจผู้ซื้อ ลดปัญหาสินค้าออนไลน์ ไร้ ‘มอก.-อย.

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินหน้าเสริมกลไกกำกับธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ประกาศคู่มือใหม่! “การดูแลเกี่ยวกับการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน ของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” แนวทางสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เร่งปิดช่องโหว่! สินค้าไม่มีมาตรฐาน เช่น มอก. และ อย. บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ลดความเสี่ยง และผลกระทบจากสินค้าออนไลน์ที่ไม่ปลอดภัย! ดาวน์โหลดคู่มือที่ https://bit.ly/3MPl3TO

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่าปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อหุงข้าว ปลั๊กไฟ ที่ไม่ผ่านตามมาตรฐานหรือคุณภาพของสินค้า ตามที่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. รวมไปถึง สินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเช่น ยา เครื่องสำอาง ที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากมาตรฐานอาหารและยา หรือ อย. เป็นต้น กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยจากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA พบว่า เพียงครึ่งปี 2567 (มกราคม-พฤษภาคม) มีเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ถึง 11,629 เรื่อง โดยเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุดคือปัญหาซื้อขายออนไลน์ เช่น อาหารเครื่องดื่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถึง 45.67% ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสินค้าไม่ตรงปก โอนเงินแล้วได้ของที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยสิ่งเหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคทั้งทางร่างกาย สุขภาพ ทรัพย์สิน ความเชื่อมั่นต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจไทยที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องเสียเปรียบในการแข่งขัน เพราะสินค้าลอกเลียนแบบที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาถูก แต่แฝงไปด้วยความเสี่ยง จนกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวมของประเทศ จากปัญหาข้างต้น ETDA ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) จึงได้ออกประกาศ ‘คู่มือการดูแลเกี่ยวกับการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ ที่ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้มีแนวปฏิบัติที่ดีในการดูแลเกี่ยวกับการขายหรือโฆษณาสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มของตนเอง ที่ต้องมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่าง มาตรฐาน มอก. หรือ อย. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้ารวมถึงการช่วยคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภคและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงกรณีไม่สามารถระบุตัวผู้ที่ทำความผิดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้

โดยสาระสำคัญของคู่มือนี้จะครอบคลุม ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการขายหรือโฆษณาสินค้าตามชนิดหรือประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีมาตรฐาน ที่ต้องประกาศให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างชัดเจนอย่างน้อยๆ ต้องกำหนดคุณลักษณะของสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ หม้อหุงข้าว ปลั๊กไฟ ต้องแสดงภาพสินค้าที่โชว์เครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และรหัสคิวอาร์ (QR Code) สำหรับในส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องสำอาง ต้องมีฉลากที่แสดงภาพสินค้า ชื่อ ที่อยู่ของผู้ผลิตหรือ นำเข้า เลขที่อนุญาตการผลิต เลขที่อนุญาตโฆษณา และต้องมีการกำหนดข้อจำกัดในการขายหรือโฆษณาสินค้า    เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ให้เป็นสินค้าที่ถูกจำกัดการขายหรือโฆษณา ที่ผู้ประกอบการในฐานะผู้ขาย ต้องส่งเอกสารประกอบการขายหรือโฆษณาให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนขาย หรือการกำหนดให้ สินค้าจำพวก ยา (ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน) วัตถุเสพติด เป็นสินค้าห้ามขาย นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดในการตรวจสอบข้อมูลสินค้าและความเป็นผู้ประกอบการก่อนเผยแพร่ (Screening) เช่น สินค้าจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับใบรับรองหรือหลักฐานที่แสดงได้ว่าผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว พร้อมนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เก็บสินค้า ในส่วนของการสมัครใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้ขาย จะต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เช่นการใช้ Digital ID (การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) สำหรับผู้ประกอบการที่สมัครเพื่อขายหรือโฆษณาสินค้าบนแพลตฟอร์ม เช่นกรณีเคยตรวจสอบมาแล้วโดยผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ThaID กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือ IdP  (Identify Provider) อื่น รวมถึงการที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีเองตอนสมัครใช้งาน คู่มือฉบับนี้ได้มุ่งเน้นที่ระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตนที่ระดับ IAL2 (Identity Assurance Level) เป็นอย่างน้อย สำหรับผู้ประกอบการคนไทยหรือในระดับที่เหมาะสมสำหรับชาวต่างชาติ หรือวิธีอื่นๆ ตามที่คู่มือกำหนด การดำเนินการขณะเผยแพร่สินค้า (Ongoing Monitoring) ควรจัดให้มีการแสดงข้อมูลสินค้าเป็นภาษาไทยอย่างชัดเจนบนหน้าแสดงผลของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถอ่านและเข้าใจข้อมูลได้ง่าย เช่น สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่แสดงว่าผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว ข้อมูลของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า สถานที่ผลิตหรือนำเข้า รายละเอียดของสินค้า ใบรับรองหรือหลักฐานการผ่าน มอก. หรือ อย. ข้อมูลเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น และต้องช่วยให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าสามารถแสดงภาพสินค้า และสัญลักษณ์มาตรฐาน บนหน้าแสดงผลของแพลตฟอร์มได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และมีลิงก์หรือช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้              และสุดท้ายคือ มาตรการภายหลังการเผยแพร่ (Post-Publication) ทั้ง การตรวจสอบคุณภาพของผู้ประกอบการ ผ่านจำนวนและประเภท Report, การปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไข นโยบาย หรือมาตรฐานชุมชน และการจัดทำทะเบียนประวัติของผู้ประกอบการที่ควรพึงระวัง (Watchlist) และผู้ประกอบการที่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการขายหรือโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน (Blacklist) นอกจากนี้      ยังควรมีการตรวจสอบการเสนอหรือการโฆษณาสินค้า ด้วยระบบอัตโนมัติหรือเจ้าหน้าที่ และต้องระบุเกณฑ์ (criteria) ในการรีวิวสินค้าไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งาน การมีกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนพร้อมกำหนดวิธีการในการตรวจสอบและแจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบโดยเร็ว เป็นต้น 

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดและดาวน์โหลด “คู่มือการดูแลเกี่ยวกับการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน ของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ได้ที่ https://bit.ly/3MPl3TO  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่อีเมล sv-dps@etda.or.th ติดตามทุกความเคลื่อนไหวที่ เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand