November 24, 2024

เปิดคู่มือใหม่ ETDA : ปิดสวิตช์ “โฆษณาลวง – ผิดกฎหมาย” ด้วยกลไก ‘Screen and Monitor’ คืนพื้นที่ปลอดภัยสู่โลกออนไลน์

ปัญหาการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ นับว่าเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่คนทั่วโลกต่างกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการถูกหลอกลวงจาก “โฆษณาออนไลน์” ที่ปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (Fedral Trade Commission) ปี 2565 พบ การร้องเรียนจากประชาชนทั่วสหรัฐอเมริกาว่าถูกหลอกลวงจากออนไลน์มูลค่าเสียหายรวมกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

โดยต้นตอของการหลอกลวงมาจากช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียผ่านกลไกการหลอกที่น่าสนใจ คือ โฆษณาออนไลน์ลวง จนกระทั่งข้อมูลล่าสุดในปี 2566 ก็พบว่าปัญหาโฆษณาทางออนไลน์หรือ Bad Ads ยังเป็นปัญหาที่ส่งกระทบในวงกว้าง โดยพบว่าน่าจะมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากประเด็นดังกล่าวถึง 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยร้อยละ 36 ของการกดคลิกโฆษณาคาดว่าจะเป็นโฆษณาหลอกลวง โดยส่วนใหญ่เกิดจากเว็บบอท (Web Bots)2

เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อย แม้รายงานจากศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ สายด่วน 1212 ของ ETDA จะสะท้อนตัวเลขสถิติการร้องเรียนปัญหาออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ลดลงถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า “ปัญหาจากโฆษณาลวงและผิดกฎหมาย” ยังคงเป็นประเด็นหลักที่คนไทยประสบและร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาขายสินค้าที่ไม่ตรงตามจริง สินค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โฆษณาเว็บไซต์การพนัน โฆษณาชวนลงทุนหลอกลวง หรือแม้แต่โฆษณาหลอกลวงจ้างงานออนไลน์

สอดคล้องกับผลการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2567 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้ปิดเว็บพนันไปแล้วถึง 5,771 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 20.9 เท่า เมื่อเทียบกับ เดือนมิถุนายน 2566 ที่มีเพียง 276 รายการ เช่นเดียวกับการดำเนินงานของกองป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้ปิดกั้นคอนเทนต์โฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลไปแล้วกว่า 23,248 รายการ (ตุลาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567)

แม้สถิติเหล่านี้อาจสร้างความโล่งใจในระดับหนึ่งในมุมของปริมาณการแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ตัวเลขของปัญหาใหม่จะลดลงตามไปด้วย ตรงกันข้ามในยุคที่ทุกกิจกรรมต่างๆ ทำผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ปัญหาเหล่านี้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและพบง่ายกว่าเดิม ที่สำคัญยังซับซ้อน และหลากหลายมากขึ้น แนวทางการลดผลกระทบ นอกจากการเอาจริงเอาจังในการปราบปรามของภาครัฐ ควบคู่ไปกับการเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันของผู้ใช้งานแล้ว แพลตฟอร์มดิจิทัลในฐานะด่านแรกของการป้องกันนี้ก็จะต้องยกระดับมาตรการตรวจสอบและควบคุมเนื้อหาโฆษณาออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางออนไลน์อย่างปลอดภัย ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ ด้วยกลไกการ “กำกับ – ดูแล” ภายใต้กฎหมาย Digital Platform Services หรือ กฎหมาย DPS ล่าสุด ได้ออกประกาศ สพธอ. เรื่อง “คู่มือการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” เพื่อกำหนดการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเป็นแนวทางให้กับแพลตฟอร์มดิจิทัลในการตรวจสอบและควบคุมเนื้อหาโฆษณาที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มของตน คู่มือนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างมาตรฐานการให้บริการที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ แต่ยังเป็นการสนับสนุนการป้องกันปัญหาโฆษณาลวงและผิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย 2 กลไกสำคัญ ทั้ง Screening และ Monitoring ที่ครอบคลุมการตรวจสอบทั้งก่อนและหลังการทำโฆษณา

‘Screening and Monitoring’  ตัดวงจรโฆษณาออนไลน์ลวง – ผิดกฏหมาย

            เริ่มที่กลไก Screening หรือการตรวจสอบก่อนที่โฆษณาจะเผยแพร่ออกไป คู่มือฯ ฉบับนี้ ได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัล ไว้  2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ การตรวจสอบและเก็บข้อมูลของผู้กระทำการโฆษณา ประกอบด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องจัดให้มีกระบวนการในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำการโฆษณาและการเก็บข้อมูล โดยกำหนดขั้นตอน วิธีการ และข้อมูลที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นผู้ทำโฆษณา รวมถึง ต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทั้งในกระบวนการลงทะเบียนและการทำโฆษณาของผู้ทำโฆษณา ด้วยระบบ Digital ID ผ่านระบบของผู้ให้บริการหรือ IdP อย่าง แอปพลิเคชัน ThaID ของกรมการปกครองหรือ IdP อื่นๆ ที่รองรับระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตนที่ระดับ IAL2 (มีการแสดงหลักฐานแสดงตน และตรวจสอบหลักฐานแสดงตน) เป็นอย่างน้อย หรือหากไม่มีระบบรองรับก็จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างน้อย ได้แก่ ชื่อ-สกุล หรือชื่อนิติบุคคลของผู้ทำการโฆษณา หรือเป็นผู้ชำระค่าบริการสำหรับการลงโฆษณา เลขประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง (Passport) มีช่องทางการติดต่อที่ชัดเจน และต้องมีการเก็บข้อมูลของผู้ที่ทำการโฆษณา รวมถึงจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับการตรวจสอบโฆษณาที่พึงระวัง (Watchlist) การทำความผิดตามกฎหมายหรือข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Blacklist) และผู้ทำการโฆษณาที่น่าเชื่อถือ (Whitelist) การตรวจสอบโฆษณาก่อนเผยแพร่ (Screening) อย่างน้อยๆ ต้องกำหนดลักษณะของโฆษณาที่ต้องห้ามหรือที่เผยแพร่ได้แบบมีข้อจำกัด และกำหนดลักษณะของโฆษณาที่ต้องขออนุญาตก่อน เช่น การลงทุน การให้สินเชื่อ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ทำการโฆษณาหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลอ่อนไหวในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย โฆษณา เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็น ทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนา ฯลฯ ทั้งยังต้องจัดเก็บข้อมูล และแบ่งประเภทของโฆษณาอย่างชัดเจนพร้อมจัดให้มีช่องทางเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลโฆษณาและผู้ทำโฆษณาได้

ส่วนกลไก Monitoring หรือการตรวจสอบหลังเผยแพร่โฆษณา ในพาร์ทนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ตรวจสอบคุณภาพของผู้ทำโฆษณา ด้วยการตรวจสอบบัญชีของผู้ทำโฆษณา โดยอาจพิจารณาข้อมูล เช่น จำนวนและประเภทการแจ้งรายงาน (Report/ Flagging) การปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ นโยบาย หรือมาตรฐานการให้บริการ ตรวจสอบโฆษณาที่มีการเผยแพร่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งด้วยระบบอัตโนมัติ หรือเจ้าหน้าที่ ตามความสำคัญของการตรวจสอบประเภทของโฆษณา ที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบนอกเหนือจากการใช้ระบบ และต้องจัดให้มีช่องทางที่ผู้ใช้บริการสามารถแจ้งรายงานโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมได้ อาทิ การแอบอ้างรูปภาพ วิดีโอ ข้อความของบุคคลหรือกิจการอื่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ข้อความที่มีลักษณะลามก อนาจาร หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี การชักชวนให้ลงทุนหรือระดมทุนโดยผิดกฎหมาย หรือสิ่งอื่นพร้อมทั้งตรวจสอบ และแจ้งผลให้ผู้ใช้บริการทราบโดยไม่ชักช้า

มีคู่มือคุมเข้มโฆษณาออนไลน์ แล้วใครจะได้ประโยชน์?

            หลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อเรามีคู่มือฯ เข้ามาช่วยดูแลและคุมเข้มป้องกันโฆษณาออนไลน์ลวง และผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้ว…ใครได้ประโยชน์บ้าง?

●      เริ่มที่กลุ่มแรกเลย ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ประโยชน์ที่จะได้รับเห็นได้ชัดเลยนั่นก็คือ โอกาสที่จะเจอกับโฆษณาลวง ผิดกฎหมาย หรือไม่เหมาะสม เวลาที่เราดูหนัง ซื้อของ ชอปปิ้งบนแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นน้อยลงหรืออาจไม่เจอเลยก็ได้ นั่นหมายความว่าการทำธุรกรรมออนไลน์ที่อาจจะเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่แฝงมากับโฆษณาออนไลน์ ก็น่าจะลดลง ที่สำคัญยังมีช่องทางเพื่อกดรายงานโฆษณาที่น่าสงสัยหรือไม่เหมาะสมผ่านช่องทางที่แพลตฟอร์มจัดเตรียมไว้ให้ด้วย สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการใช้บริการแพลตฟอล์มได้มากขึ้น

●      ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ขายสินค้าและบริการ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็นเจ้าของโฆษณาตัวจริง นอกจาก จะได้รับความชัดเจนในเรื่องของกฎระเบียบและแนวทางในการเผยแพร่โฆษณา การทำโฆษณาที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดในคู่มือฯ ได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังจะช่วยให้เจ้าของสินค้าหรือบริการ ที่ทำโฆษณาสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และการปฏิบัติตามคู่มือฯ ของผู้ทำโฆษณา อย่างการยืนยันตัวตน ทั้งก่อนและหลังโฆษณายังช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกสวมรอยจากเหล่ามิจฉาชีพ ที่ฉวยโอกาสอ้างว่าเป็นเจ้าของแบรนด์ แล้วทำโฆษณาออนไลน์หลอกลวงลูกค้า จนสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ กระทบต่อแบรนด์ของผู้ประกอบการอีกด้วย

●   แพลตฟอร์มดิจิทัล เองก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะได้ผลประโยชน์จากคู่มือฯนี้ เพราะไม่เพียงมีแนวทางที่ชัดเจนในการตรวจสอบและควบคุมโฆษณาออนไลน์ที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มของตนเท่านั้น หากแต่ คู่มือฯ นี้ยังช่วยลดความเสี่ยงที่แพลตฟอร์มอาจต้องเผชิญ เช่น การถูกฟ้องร้องจากการปล่อยให้มีโฆษณาผิดกฎหมายหรือหลอกลวง ที่สำคัญช่วยสนับสนุนให้ Ecosystem ของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมยกระดับบริการ และเสริมภาพลักษณ์ในฐานะแพลตฟอร์มที่มีมาตรฐานในการให้บริการที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ด้วยกลไกของการกำกับดูแลตนเอง

●   ขณะที่ กลุ่มหน่วยงานรัฐ และเอกชน นอกจากจะไม่เสี่ยงต่อการถูกสวมรอย อ้างว่าเป็นหน่วยงานต่างๆ จากเหล่ามิจฉาชีพแล้ว หากเกิดผลกระทบจากโฆษณาลวง
ยังสามารถติดตาม ตรวจสอบโฆษณาลวงจากแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“คู่มือการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” นับเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมาย DPS ที่ ETDA คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างมาตรฐานบริการที่ปลอดภัยและโปร่งใส ด้วยกลไกการกำกับ ดูแล คุ้มเข้มโฆษณาลวงและผิดกฎหมาย ที่ไม่จำกัดแค่การกำหนดแนวทางที่แพลตฟอร์มและผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม แต่ยังสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ พร้อมทั้งปกป้องผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวง สู่การร่วมสร้างสภาพแวดล้อมของการทำธุรกรรมออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ และวางใจได้ในระยะยาว

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด“คู่มือการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ได้ที่ https://bit.ly/4edonVr หรือติดตามข้อมูลดีๆ ที่จะช่วยให้คุณ “ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล” ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก  ETDA Thailand