November 24, 2024

ดีเอ็กซ์ซี เทคโนโลยี เผย 5 เทรนด์ยานยนต์ที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถยนต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ดีเอ็กซ์ซี เทคโนโลยี (DXC Technology) (NYSE: DXC) บริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่ติดทำเนียบฟอร์จูน 500 (Fortune 500) ได้คาดการณ์ 5 แนวทางที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถยนต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

การเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวกำหนดกำลังพลิกโฉมทุกแง่มุมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งแต่วิธีการออกแบบรถยนต์ วิธีการผลิต ไปจนถึงวิธีที่เราใช้งานและซ่อมบำรุง ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้รถยนต์กับอีโคซิสเต็มของพันธมิตรและบริการที่หลากหลายซึ่งประกอบกันเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นกำลังจะเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ ดีเอ็กซ์ซีและบริษัทในเครือได้แก่ ลักซอฟต์ (Luxoft) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ยานยนต์และโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์ม จึงเล็งเห็นถึงเทรนด์ 5 ประการต่อไปนี้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

1. ซอฟต์แวร์ภายในรถจะมีความสำคัญเทียบเท่ากับตรายี่ห้อรถ

รถยนต์ในอนาคตจะเป็นรถที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวกำหนด (SDV) โดยมีฟีเจอร์และฟังก์ชันที่ควบคุมโดยซอฟต์แวร์

คุณแมทเธียส บาวแฮมเมอร์ (Matthias Bauhammer) หัวหน้าระดับโลกประจำฝ่ายข้อเสนอการขับขี่ด้วยหุ่นยนต์ของดีเอ็กซ์ซี เทคโนโลยี กล่าวว่า “รถยนต์ SDV จะเป็นที่รู้จักจากด้านประสบการณ์ของผู้ใช้มากกว่าจากคุณสมบัติทางกายภาพ ซอฟต์แวร์จะสร้างการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างผู้ผลิตรถยนต์กับลูกค้า ทำให้ธุรกิจยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มสามารถให้บริการส่วนบุคคลแก่ลูกค้าผ่านยานพาหนะของตัวเองได้อย่างราบรื่น”

การแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้จะไม่จำกัดเฉพาะรถยนต์คันเดียวและผู้ผลิตรถดังกล่าวเท่านั้น แต่ “ข้อมูลคนขับ” จากยานพาหนะหลายล้านคันจะสามารถนำมาใช้เพื่อให้บริการการสัญจรที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้นในอีโคซิสเต็มยานยนต์ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น โครงการ Gaia-X 4 Future Mobility ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มทางฝั่งยุโรปที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันระหว่างผู้ใช้รถ, ผู้ให้บริการ, ผู้ผลิต และซัพพลายเออร์ได้อย่างใกล้ชิด นำไปใช้ทั้งในการวางโครงสร้างพื้นฐานการจราจรอัจฉริยะ การจัดการยานพาหนะตลอดวงจรชีวิต และเทคโนโลยีฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twins) สำหรับยานยนต์อัตโนมัติ

2.  รถของคุณสามารถอัปเดตตัวเองและนำเสนอการอัปเกรดแบบออนดีมานด์ได้

เมื่อรถยนต์ถูกกำหนดด้วยซอฟต์แวร์มากขึ้นและเชื่อมต่อกับเว็บมากขึ้น ความสามารถในการรักษาตัวเอง อัปเดตตัวเอง และรีเฟรชตัวเองจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

คุณคาร์สเตน ฮอฟฟ์เมสเตอร์ (Karsten Hoffmeister) หัวหน้าฝ่ายการขับขี่อัตโนมัติของลักซอฟต์ กล่าวว่า “ซอฟต์แวร์โทรศัพท์ของเราได้รับการอัปเดตอยู่เป็นประจำ มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ การดาวน์โหลดแอป การอัปเดตและออกแพตช์ความปลอดภัยเพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้อุปกรณ์มีประโยชน์มากขึ้น ขณะที่รถยนต์อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อนที่จะมีความไดนามิกและโต้ตอบได้เหมือนโทรศัพท์ แต่เห็นได้ชัดว่าเรากำลังเห็นวิวัฒนาการแบบเดียวกันนี้ดำเนินอยู่”

ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ในโลกกำลังทดลองให้บริการแบบออนดีมานด์ในรูปแบบซอฟต์แวร์แก่ผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) ที่มอบการอัปเกรดผ่านการดาวน์โหลดจากแอป My BMW หรือซิมการ์ดที่ติดตั้งในรถยนต์ หรืออย่างที่วอลโว่ (Volvo) ได้ให้บริการอัปเดตซอฟต์แวร์แบบไร้สาย (OTA) ที่สามารถส่งตรงไปยังรถของลูกค้า

บริษัทรถยนต์บางแห่งยังมองหาวิธีการสร้างรายได้จากการอัปเกรดซอฟต์แวร์ โดยซีอีโอประจำบริษัทแคเรียด (CARIAD) ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ยานยนต์ของกลุ่มโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริการขับขี่ไร้คนขับแบบจ่ายตามการใช้งานจริงอาจถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็เป็นได้

3. สำหรับผู้คนยุคเจนซี การเป็นเจ้าของรถยนต์อาจกลายเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว

การใช้ชีวิตและการทำงานของเรากำลังเปลี่ยนไป การทำงานแบบไฮบริดทำให้พนักงานหลายคนไม่จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถยนต์ทุกวันอีกต่อไป คนหนุ่มสาวจำนวนมากอาจต้องการความสะดวกสบายจากรถยนต์ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบการเป็นเจ้าของแบบดั้งเดิมซึ่งมักมีราคาแพง มีภาระมาก และไม่ยืดหยุ่น ดังนั้น วิธีการที่แตกต่างออกไปคือการจ่ายค่าบริการเมื่อต้องการใช้งานเท่านั้น เช่นอาจจะเป็นบริการแบบสมัครสมาชิก บริการแชร์รถ หรือบริการให้เช่ารถแบบ Peer-to-Peer และรถยนต์ SDV ก็มีความเหมาะสมกับบริการเหล่านี้เนื่องจากมีฟีเจอร์แบบออนดีมานด์และการควบคุมระยะไกล

ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายกำลังทดลองใช้ระบบบริการรถยนต์แบบสมัครสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นอาวดี้ (Audi), เลกซัส (Lexus), นิสสัน (Nissan), ปอร์เช่ (Porsche) และวอลโว่ (Volvo) นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบุคคลที่สามจำนวนมากยังเสนอบริการแบบสมัครสมาชิกอีกด้วย รวมถึงบริษัทให้เช่ารถที่มองว่าระบบนี้เป็นการต่อยอดจากบริการที่มีอยู่เดิมอย่างสมเหตุสมผล เช่นเดียวกับสตาร์ตอัปอย่างบอร์โรว (Borrow) ที่วางแผนมุ่งเน้นไปที่บริการรถยนต์ไฟฟ้าแบบสมัครสมาชิก

ตัวอย่างแหวกแนวของรูปแบบการสมัครสมาชิกเพื่อการสัญจรแบบผสมผสานได้แก่ GetTransfer.com ซึ่งนำเสนอบริการจ้าง เช่า และเปลี่ยนรถยนต์, เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินจำนวนมากมายให้ลูกค้า

4. รถยนต์ของคุณจะสามารถนัดหมายช่างซ่อมบำรุงได้ก่อนที่คุณจะทราบถึงปัญหา

คุณจอห์น เมคิน (John Makin) นักกลยุทธ์ด้านยานยนต์ของลักซอฟต์ กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) การเชื่อมต่อที่มีอยู่ในรถยนต์จะถูกใช้เพื่อส่งข้อมูลการวินิจฉัยยานพาหนะแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะใช้ในการวางแผนคาดการณ์กำหนดการซ่อมบำรุงที่ซับซ้อนและสะดวกสบายมากขึ้น”

ฟีดแบ็กจากการวิเคราะห์ขั้นสูงที่ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยให้รถยนต์แจ้งปัญหาที่จะเกิดขึ้นไปยังอู่ซ่อมรถ ตัวแทนจำหน่าย หรือส่งตรงไปยังผู้ผลิตได้ โดยระบบจะแชร์ข้อมูลการวินิจฉัยกับช่างเครื่องล่วงหน้า เพื่อให้พวกเขาสามารถสั่งซื้อส่วนประกอบที่จำเป็นได้ เทคโนโลยีนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ขับขี่ในการตรวจหาปัญหาของรถยนต์และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนไปในเวลาเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐอย่างริเวียน (Rivian) ซึ่งให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ถึงบ้าน ระบุว่าบริษัทมีความสามารถในการ “วินิจฉัยอย่างครอบคลุมจากระยะไกลผ่านแพลตฟอร์มยานพาหนะที่เชื่อมต่อของเรา ปัญหาส่วนใหญ่สามารถระบุได้ล่วงหน้าด้วยชุดเซนเซอร์ในรถและอัลกอริทึมเชิงทำนาย ทำให้เราสามารถแจ้งให้คุณทราบถึงปัญหาก่อนที่คุณจะรับรู้ถึงมันได้บ่อยครั้ง”

5. รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของคุณอาจใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น โดยในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 21% ของตลาดในปัจจุบัน จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาออโตฟอร์แคสต์ โซลูชันส์ (AutoForecast Solutions) พบว่า รถ EV จะสามารถครองตลาดอเมริกาเหนือได้กว่าหนึ่งในสาม และประมาณ 26% ของจำนวนรถยนต์ที่ผลิตทั่วโลกภายในปี 2572

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของแบตเตอรี่รถ EV เวลาในการรอรับรถยนต์และชิ้นส่วนที่ยาวนาน ตลอดจนปัญหาการขยายโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นนั้น กำลังส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจหันมาใช้รถ EV โดยผู้ขับขี่ในหลายเมืองทั่วโลกต้องเสียเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงเพื่อชาร์จรถที่จุดชาร์จสาธารณะ

ด้วยความสามารถในการกำหนดเส้นทางอัจฉริยะและการใช้พลังงานให้เหมาะสมที่สุด รถยนต์ SDV สามารถลดปัญหาเหล่านี้ไปได้หลายประการ อย่างไรก็ตาม การตามหาแหล่งพลังงานทางเลือกสำหรับรถยนต์เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป

การทดสอบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเบื้องต้นที่สถาบันดีแอลอาร์ (DLR Institute for Vehicle Concepts) ในเมืองชตุทการ์ท ประเทศเยอรมนี แสดงให้เห็นว่า ด้วยถังบรรจุไฮโดรเจนขนาด 6.3 กก. รถยนต์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ราว 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง เทียบเท่ากับการบริโภคเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนหนึ่งคน เราคาดว่าเมื่อยานพาหนะใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวกำหนดมากขึ้น ก็จะมีการพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงทางเลือกเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมยานยนต์

เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บล็อกของดีเอ็กซ์ซี: 5 เทรนด์ยานยนต์ที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถยนต์