อาเธอร์ ดี. ลิตเติล เผยภาพรวมตลาดและความท้าทายในอุตสาหกรรม EV ไทย ในงานแถลง “ติดปีกศักยภาพ ปลดล็อกอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล (ADL) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก ได้เผยรายงานที่ทำการวิเคราะห์ตลาดยานยนต์ปัจจุบันในประเทศไทย พร้อมนำเสนอแนวทางในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
นายฮิโรทากะ อุชิตะ ประธานบริหารและผู้อำนวยการ ประจำอาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ประเทศไทย กล่าวว่า “การพัฒนาอุตสาหกรรม EV มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก หากประเทศต้องการรักษาตำแหน่ง “ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งเอเชีย”เอาไว้และดึงเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเทรนด์การลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งขับเคลื่อนโดยเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการผลิต EV ของตลาดทั่วโลกที่มาแข่งขันกับประเทศตลาดเกิดใหม่ (เช่น ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง)”
ADL มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาลูกค้า เพื่อให้พร้อมเปิดรับโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ท่ามกลางอีโคซิสเต็มของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอันดับด้านความพร้อมในปัจจุบันของอุตสาหกรรม EV ไทย ผ่านดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั่วโลก (Global Electric Mobility Readiness Index — GEMRIX) ของ ADL ที่พัฒนาขึ้นจากการเปรียบเทียบตลาดยานยนต์ที่สำคัญทั่วโลก
ดร.อันเดรียส ชลอสเซอร์ พาร์ทเนอร์และประธานบริหารกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก กล่าวว่า “ดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั่วโลก (GEMRIX) ของ ADL ออกแบบมาเพื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขตลาดของยานยนต์ EV และยานยนต์สันดาปใน รายงานดังกล่าวทำการวิเคราะห์ประเทศทั้งสิ้น 15 ประเทศ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มสูงมากขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ในด้านความพร้อมของตลาดสำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า”
ประเทศไทย ได้ประกาศแผนที่มุ่งมั่นในการคว้าส่วนแบ่งตลาด EV ที่เพิ่งเริ่มต้นแต่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนการวางจุดยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศอีกด้วย แต่แม้ว่ารัฐบาลไทยจะออกมาตรการกระตุ้นและการออกกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาด แต่อัตราการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังถือว่าต่ำอยู่ รายงานของ อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ
ความท้าทายหลักของไทย
ADL ได้ระบุความท้าทายหลัก 5 ประการในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินการเพื่อพลิกโฉมสู่การใช้เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็วสำหรับวงการยานยนต์ โดยความท้าทายทั้ง 5 ประการ ได้แก่
- การเปลี่ยนผ่านที่เป็นไปได้ของไทยในการใช้พลังงานหลายรูปแบบและการเปลี่ยนฐานของซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์
- ความสามารถในการแข่งขันในซัพพลายเชนของแบตเตอรี่
- การผลักดันเชิงกลยุทธ์ของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ
- ความตระหนักรู้ของลูกค้าไทยเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอนและ EV
- ศักยภาพของ EV ไทยในตลาดส่งออก
ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงในการผลิตยานยนต์ อาทิ อินโดนีเซีย สามารถเข้าถึงทรัพยากรหลักอย่างนิกเกล ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในแบตเตอรี่ลิเธียม นอกจากนี้ ศักยภาพในการส่งออกของไทยในฐานะฮับการผลิตยานยนต์ก็อาจต้องเจอความท้าทาย เนื่องจากตลาดส่งออกที่มีอยู่ เริ่มเปลี่ยนไปใช้ EV จาก OEM และแบรนด์ท้องถิ่นในประเทศของตนเอง
นายอัคเชย์ ปราสาด ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิต อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสริมว่า “วิวัฒนาการของอุตสาหกรรม EV ไทยจะขึ้นอยู่กับผู้เล่นใน
อีโคซิสเต็ม เนื่องจากฐานความต้องการในไทยยังมีจำกัดและเงื่อนไขในฝั่งของอุปทานก็ยังไม่น่าพึงพอใจ ด้วยเหตุนี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) นอกจากนี้ เทรนด์ระบบไฟฟ้าในไทยสร้างโอกาสให้ผู้เล่นท้องถิ่นและสตาร์ตอัปสามารถก่อตั้งแบรนด์ EV ของตนเอง ซึ่งอาจเป็นการพลิกเกมในวงการยานยนต์ไทยในอนาคต ซึ่งจวบจนปัจจุบัน ยังต้องพึ่งพาแบรนด์และผู้เล่นจากต่างประเทศอยู่”
ศักยภาพของประเทศไทยในตลาด EV
รายงานยังได้แสดงภาพรวมของผลการวิเคราะห์สำคัญจากดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั่วโลก (Global Electric Mobility Readiness Index (GEMRIX) ของ ADL ประจำปี 25651 โดยมุ่งเน้นที่ตลาดไทย ซึ่งได้รับการจัดประเภทให้เป็นตลาด EV เกิดใหม่ (Emerging EV Market) เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งได้คะแนนระหว่าง 40 – 60 คะแนน
ADL ยังเห็นศักยภาพมหาศาลสำหรับตลาด EV ในประเทศไทย ด้วยการผลักดันอย่างแข็งขันจากภาครัฐ ผู้เล่นที่มีอยู่จำนวนมากในอีโคซิสเต็ม EV และความมุ่งมั่นของไทยในการทำให้เทรนด์ระบบไฟฟ้าเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในตลาดปัจจุบันและความเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ADL เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะพลาดเป้าการขายยานยนต์ EV ที่ตั้งไว้ 1.123 ล้านคันภายในปี 2573 และมีข้อแนะนำที่จะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านสู่ EV ได้ด้วยการสร้าง
อุปสงค์และการพัฒนาอุปทาน
ยอดขาย EV ในไทยคาดว่าจะเพิ่มจาก 1,572 คันในปี 2563 เป็นราว 831,161 คันในปี 2573 ซึ่งสูงขึ้นถึง 529 เท่า คาดว่าอัตราการใช้ EV ภายในปี 2573 จะอยู่ที่ 61,000 คันสำหรับรถยนต์และรถกระบะ 763,000 คันสำหรับรถไฟฟ้า 2 ล้อ และ 7,000 คันสำหรับรถบัสและรถบรรทุก รายงานยังระบุว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับรถ 2 ล้อ แต่จะไม่บรรลุเป้าหมายสำหรับรถยนต์ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก
นอกจากนี้ ADL ยังได้ระบุแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพลิกโฉมอุตสาหกรรมตามที่ต้องการ
งานแถลงเปิดเผยรายงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เล่นชั้นนำในอุตสาหกรรมมากมายและได้รับเกียรติจากหลากหลายหน่วยงาน องค์กร และธุรกิจที่ได้มาร่วมฟังการแถลง โดยมีทั้งสมาชิกคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT), คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสิงคโปร์ และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจ OEM แบบดั้งเดิม อาทิ โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง, โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, ฮีโน่ มอเตอร์ส เอเชีย, ตรีเพชรอีซูซุเซลส์, อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น ประเทศไทย, อาวดี้ ประเทศไทย, เอสเอไอซี มอเตอร์ และรอยัล เอนฟิลด์ ผู้ประกอบธุรกิจพลังงานทางเลือก อาทิ Energy Absolute, นิวเอนเนอร์จี้ เน็กซัส, Innopower, ไอเกน เอนเนอร์จี และ Electric One ผู้ประกอบธุรกิจการรีไซเคิลแบตเตอรี่และโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ อาทิ ACE Green Recycling, EVLomo และ ebeecharge สตาร์ตอัปชั้นนำ อาทิ Eclimo, SCOOTA และ B-ON ตลอดจนองค์กรชั้นนำอื่น ๆ อาทิ Lear Corporation, ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น, อีโตชู ไทยแลนด์, มารูเบนิ (ประเทศไทย) และ ดีเอชแอล ซัพพลายเชน