November 24, 2024

“ยูนิเวอร์ซัล โรบอท” ผนึกผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน (โคบอท) ร่วมกำหนดนิยามใหม่ให้ระบบอัตโนมัติในงานประชุมหุ่นยนต์โคบอทที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท (ยูอาร์) ผู้นำระดับโลกในตลาดหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน (โคบอท) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้จัดงาน Collaborate APAC 2022 ซึ่งเป็นงานประชุม      โคบอทที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล ในกรุงเทพฯ  ประเทศไทย

เดินหน้าสร้างระบบนิเวศของการทำงานร่วมกัน

ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือการเดินหน้าเพิ่มคุณค่า สร้างความไว้วางใจ และสร้าง  สายสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างแนบแน่น จะเห็นได้ว่าบริษัทที่กำลังเติบโตจำนวนมากล้วนอยู่ในระบบระบบนิเวศ  ของการทำงานร่วมกันกับบรรดาพันธมิตรทางธุรกิจ และบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ก็เป็นหนึ่งในบริษัทดังกล่าว โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการสร้างระบบนิเวศที่ครอบคลุมและเปิดกว้างให้องค์กรธุรกิจอิสระต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างง่ายดายผ่านทางนวัตกรรม ระบบนิเวศของยูอาร์ประกอบด้วย UR+ (ยูอาร์พลัส) เครือข่ายตัวแทนจำหน่าย ผู้รวมระบบเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรอง และผู้ผลิตเครื่องจักร (โออีเอ็ม)

บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ได้สร้างระบบนิเวศแห่งแรกของโลกสำหรับพันธมิตรยูอาร์พลัสที่ได้รับการรับรอง รวมทั้งได้สร้างแพลตฟอร์มเพื่อทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากภายนอกด้วย โดยพันธมิตรเหล่านี้พร้อมนำเสนอคอมโพเนนต์และชุดแอพพลิเคชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละธุรกิจ ปัจจุบันแพลตฟอร์มยูอาร์พลัสประกอบด้วยเหล่าพันธมิตรยูอาร์พลัสที่มีจำนวนมากกว่า 300 ราย รวมทั้งมีคอมโพเนนต์ ชุดแอพพลิเคชั่น และโซลูชันต่างๆ ที่พร้อมรองรับยูอาร์พลัสและผ่านการรับรองแล้วมากกว่า 400 รายการ สำหรับโซลูชันยูอาร์พลัสกำลังเติบโตอย่างมากในขณะนี้ ได้แก่ โคบอท ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริการติดตั้ง การสนับสนุนการปฏิบัติงาน และการฝึกอบรม ซึ่งถือเป็นโซลูชันมาตรฐานที่จะช่วยรับมือกับความท้าทายที่บรรดาผู้ผลิตกำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยูอาร์พลัสทั้งหมดยังได้รับการรับรองว่ามีความสอดคล้องและสามารถผสานรวมเข้ากับโคบอทของบริษัทยูอาร์ได้อย่างง่ายดาย

ในวันนี้ บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ได้จัดการประชุมที่ใหญ่ที่สุดภายใต้ชื่อ Collaborate APAC 2022 ซึ่งเป็นเวที         ที่รวมพันธมิตรในระบบนิเวศของโคบอทมาร่วมกันนำเสนอและสาธิตโซลูชันสำหรับผู้ผลิตโดยเฉพาะ สำหรับ       โออีเอ็มและพันธมิตรยูอาร์พลัสที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้มีอยู่ด้วยกันหลายราย ได้แก่ บริษัท ออนโรบอท (OnRobot) บริษัท เมอร์กา เอเชียแปซิฟิก พีทีอี จำกัด (Mirka Asia Pacific Pte Ltd) บริษัท ชุ้งค์ อินเทค พีทีอี จำกัด (SCHUNK Intec Pte Ltd) บริษัท เบาเมอร์ (สิงคโปร์) พีทีอี จำกัด (Baumer (Singapore) Pte Ltd), บริษัท ซิค    พีทีอี จำกัด (SICK Pte Ltd), บริษัท นอร์ดโบ โรโบติกส์ (Nordbo Robotics) บริษัท เมค-มายด์ โรโบติกส์ (Mech-Mind Robotics) และบริษัท อิมแพค โรโบติกส์ (Impaqt Robotics) ซึ่งทุกบริษัทได้รับเชิญให้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการบรรยายพิเศษโดยเฉพาะ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าโอกาสและความจำเป็นยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และด้วยระบบนิเวศของยูอาร์ คำว่าขีดจำกัดจะไม่ใช่อุปสรรคในการเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่บรรดาผู้ผลิตสามารถนำเอาหุ่นยนต์มาอยู่เคียงข้างมนุษย์ในโลกแห่งการทำงานได้จริง รวมทั้งยังช่วยพัฒนาชีวิตการทำงานและประสิทธิภาพการผลิตไปควบคู่กันได้ด้วย

ไฮไลต์ของการประชุม

มาเธียส วิกลันด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท เป็นผู้เปิดการประชุมพร้อมกล่าวสุนทรพจน์ที่สร้างแรงบันดาลใจในเรื่องแนวทางที่บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ใช้ในการหลอมรวมความแข็งแกร่งของบริษัทเข้ากับจิตวิญญาณแห่งความกล้าในการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ

“จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในประเทศเดนมาร์ก ปัจจุบันเราได้ติดตั้งโคบอทไปแล้ว 50,000 ตัวทั่วโลก โดยบริษัทมีจำนวนพนักงาน 1,000 คนจาก 6 ทวีป รวมถึงพันธมิตรในระบบนิเวศกว่า 200 รายพร้อมด้วยแอพพลิเคชั่นมากมายที่สามารถเสริมสร้างและนำมาซึ่งประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ทั้งหมดนี่คือพวกเราชาว       ยูอาร์” วิกลันด์ กล่าวและว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับพันธมิตรในระบบนิเวศของยูอาร์ ผู้ซึ่งยินดีแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับกระบวนการทำงานทั่วไปด้วยการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงานของยูอาร์ การพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางถือเป็นแนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่คุณภาพชีวิตของพนักงานจะดียิ่งขึ้นจากการปรับใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ให้เข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน นี่คืออนาคตของโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความมีประสิทธิผล”

ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ได้เปิดตัวโคบอท UR20 ภายในงาน Collaborate APAC 2022 โดยโคบอทรุ่นนี้ถือเป็นเจเนอเรชันถัดไปสำหรับสำหรับอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมตัวของผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 200 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ใช้งานโคบอท ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้มีอิทธิพล และพันธมิตรระบบนิเวศยูอาร์พลัส โดยเป็นเวทีจัดแสดงโคบอทสำหรับอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ล่าสุดจาก ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ที่พร้อมรองรับการทำงานร่วมกันกับมนุษย์

UR20 รุ่นใหม่มาพร้อมระยะยื่นที่ 1,750 มม. และรองรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 20 กก. ทั้งยังได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิมด้วยการรวมเอาจุดเด่นของโคบอท UR ในด้านความอเนกประสงค์ ความสามารถในการใช้งาน และพื้นที่จัดวางขนาดเล็ก และเพื่อให้สอดคล้องกับธีมของปีนี้ที่ว่า “Redefining Automation” (การกำหนดนิยามใหม่สำหรับระบบอัตโนมัติ) บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ยังได้นำเสนอให้เห็นแนวทางในการปรับปรุง ออกแบบ และสร้าง UR20 ขึ้นมาใหม่เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น

“นีลส์ เฮนิช” (Niels Haenisch) พันธมิตรของเราจากบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายศูนย์นวัตกรรมด้านการปฏิบัติงาน ประเทศสิงคโปร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกภายในงาน Collaborate APAC 2022 โดยเจาะลึกให้เห็นถึงวิวัฒนาการของระบบอัตโนมัติซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับอนาคตของระบบอัตโนมัติ

“ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมา (เครื่องจักรไอน้ำ พลังงานไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์) ก็ได้มีการพูดถึงคำถามแบบเดียวกันนี้ และถือเป็นเรื่องจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมักจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับคนทำงานเสมอ ตัวอย่างเช่น ในระบบเศรษฐกิจก่อนยุคอุตสาหกรรม จำนวนเกษตรกรมีสัดส่วนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ณ ปัจจุบัน มีจำนวนเกษตรกรน้อยกว่า                   5 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า 75 เปอร์เซ็นต์จะว่างงาน ในขณะที่งานบางอย่างอาจได้รับการจัดการโดยเทคโนโลยี แต่ก็จะมีงานใหม่ๆ ถูกสร้างขึ้นมาในระบบด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมดิจิทัลยุคปัจจุบัน ในยุค I4.0 เราพบว่างานที่ใช้คนซึ่งมีคุณสมบัติไม่สูงนักทำจะมีสัดส่วนลดน้อยลง ขณะที่งานที่ต้องใช้คนที่มีคุณสมบัติสูงกว่ากลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล อีกทั้งยังเกิดงานลักษณะใหม่ๆ ขึ้นด้วย อาทิ ผู้ประสานงานด้านหุ่นยนต์ โดยในหลายกรณีนั้น เทคโนโลยีจะไม่ได้เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่เป็นการเข้ามาส่งเสริมให้พนักงานก้าวสู่บทบาทในการทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ “Bionic Enterprise” (องค์กรไบโอนิค) ที่มนุษย์และเทคโนโลยีสามารถทำงานร่วมกันและช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์และประสิทธิภาพที่สูงยิ่งกว่าเดิม” นีลส์ กล่าว

บรรดาผู้นำระดับสูงมุ่งหน้าเข้าร่วมงานเสวนากลุ่ม

ภายในงาน Collaborate APAC 2022 บรรดาผู้นำระดับสูงจะรวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของ “สัปดาห์การผลิตสี่วัน” ในภูมิภาคเอเชีย ความเครียดทางกาย ความเหนื่อยล้าทางจิตใจ และการที่ต้องทำงานให้ได้ทันตามกำหนดเวลาของลูกค้า ล้วนเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปจนก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำศัพท์ต่างๆ เช่น “flexible working” (การทำงานที่ยืดหยุ่น) และ “work-life balance “ (ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน) ได้กลายเป็นกระแสที่มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และจากการสำรวจของบริษัท มิลยู (Milieu) พบว่าพนักงาน 75 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยแสดงความสนใจอย่างมากต่อการทำงานอย่างเต็มที่เป็นระยะเวลาสี่วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่หลายบริษัทได้เดินตามแนวคิดนี้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์เป็นอย่างมาก แต่อุตสาหกรรมการผลิตกลับยังไม่ค่อยยอมรับในแนวทางนี้เท่าใดนัก ดังนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะมาร่วมกันพูดคุยในงานเสวนากลุ่มในประเด็นที่ว่า การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่สามารถอำนวยความสะดวกในการลดชั่วโมงการทำงานและเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานได้อย่างไรบ้าง   

สำหรับผู้ดำเนินรายการดังกล่าว ได้แก่ ดร. หยอง เช ฝาย (Yeong Che Fai) รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย ส่วนผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย:

•          บาลาจี โคเนรู (Balaji Koneru) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นาลา โรโบติกส์ (Nala Robotics)

•          ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ (Dr Prapin Abhinorasaeth) นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

•          ลาร์ส บัค (Lars Bach) หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาแขนโคบอต บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท

“ความเป็นไปได้ของการผลิต 4 วันต่อสัปดาห์ในประเทศไทยถือเป็นความท้าทายที่จะต้องเดินหน้าผลักดันให้สำเร็จ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในโรงงานผลิต รวมถึงระบบอัตโนมัติของกระบวนการทางธุรกิจและเทคโนโลยีเอไอ  เช่น ระบบอีอาร์พี ที่ชาญฉลาดในสำนักงานส่วนหลัง ซึ่งครอบคลุมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านเทคโนโลยี IIoT และ IoT ด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลจากรัฐบาลไทยทั้งที่มีอยู่เดิมและในส่วนที่เพิ่มเติมมากขึ้น โดยสิ่งนี้จะเข้ามาช่วยผลักดันให้แนวทางดังกล่าวกลายเป็นจริงขึ้นมาได้” ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ (Dr Prapin Abhinorasaeth) นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กล่าว