กลุ่มทรู เผยรายได้มือถือปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 สร้างนิวไฮกลุ่มธุรกิจดิจิทัลโตเด่นตามแผนก้าวสู่เทคคอมปานี ผู้ใช้งานทรูไอดีเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งเป็น 32 ล้านราย
กลุ่มทรู รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2565 มีรายได้จากการให้บริการ 2.6 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน) ท่ามกลางภาพรวมเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวและภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงกดดันการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ขณะที่มีสัญญาณเชิงบวกจากธุรกิจหลักอย่างธุรกิจมือถือที่พลิกกลับมาเติบโตร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อน หนุนรายได้จากการให้บริการและรายได้รวมในครึ่งแรกของปีเป็น 5.2 หมื่นล้านบาทและ 6.9 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลจากการเน้นปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารต้นทุนต่อเนื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 2 และร้อยละ 2.6 ในครึ่งปีแรกเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2 และ 2.8 หมื่นล้านบาทในครึ่งแรกปี 2565 ด้วยอัตรากำไร EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการ (EBITDA margin) ที่ร้อยละ 54 ในขณะที่ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายโครงข่าย 5G ดิจิทัลและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสูงสุดให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน กดดันความสามารถในการทำกำไรในครึ่งแรกของปี 2565
กลุ่มทรู เดินหน้าสู่การเป็นเทคคอมปานีที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่าสำหรับลูกค้าทั้งในกลุ่มผู้บริโภค (B2C) และภาคธุรกิจ (B2B) ผสานกับการมุ่งเน้นมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง นำเทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ ทำให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการ รวมถึงโซลูชันดิจิทัลใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมทุกมิติ ในขณะเดียวกันจะเดินหน้าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นดิจิทัล ฮับในระดับภูมิภาค พร้อมสนับสนุนบริษัทไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกับบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลก
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ในไตรมาส 2 ปี 2565 ภาพรวมของกลุ่มทรูเริ่มปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังมีหลายปัจจัย ความท้าทาย ต่างๆ ทั้งแรงกดดันจากภาวะเศษฐกิจโลก ภาวะเงินเฟ้อและโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และ ARPU ของอุตสาหกรรม แต่ฐานลูกค้ากลุ่มทรูยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กลับมาเติบโต และมีแนวโน้มบวกต่อไปจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐทำให้นักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวเริ่มทยอยกลับเข้ามาในประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มทรูยังคงมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้นให้กับลูกค้าโดยเน้นกลยุทธ์การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพิ่มความหลากหลายของแพ็กเกจและข้อเสนอต่างๆ โดยการใช้ Data Analytics มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้ตรงจุดมากที่สุดและครอบคลุมในทุกกลุ่มลูกค้า ล่าสุด เพิ่มคอนเทนต์สุดพิเศษจากทรูไอดีให้กับลูกค้ามือถือและบรอดแบนด์ของกลุ่มทรู ผ่านแคมเปญ True Unlock พร้อมการให้บริการที่ผสานความลงตัว ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเพิ่มความสะดวก สร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่าและเข้าถึงลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับธุรกิจดิจิทัลของกลุ่มทรูมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตในอัตราเลขสองหลักมาอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพการเติบโตที่สูงขึ้นได้อีกมาก อันเป็นผลจากความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ทั้งด้านเครือข่ายทรู 5G ที่ครบและครอบคลุมมากที่สุดในไทย สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมสร้างระบบนิเวศ 5G (5G Ecosystem) ที่ครบวงจรสนับสนุนการเติบโต 5G B2B ร่วมกับการขยายพันธมิตร ไอโอที และดิจิทัลโซลูชันที่ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีเทคโนโลยีใหม่ทั้งปัญญาประดิษฐ์ ไอโอที และ 5G มารวมกัน ทำให้ไม่ใช่เป็นแค่การเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกันอีกต่อไป แต่จะเป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ กับอินเทอร์เน็ตด้วยข้อมูลมหาศาล ในขณะที่ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวและแสวงหาเทคโนโลยีด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในอนาคตเช่นเดียวกัน กลุ่มทรูมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาสร้างสรรค์คุณค่าระยะยาว โดยวิวัฒนาการด้านดิจิทัลของกลุ่มทรูไม่เพียงจะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่กลุ่มบริษัทเอง แต่ยังตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มทรูที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผลประโยชน์ของชาวไทยและประเทศไทยเป็นที่ตั้ง”
นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการเงิน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงฟื้นตัวได้ช้าและภาวะเงินเฟ้อ แต่กลุ่มทรูยังคงรักษาระดับรายได้จากการให้บริการที่ 2.6 หมื่นล้านบาท และ EBITDA margin ต่อรายได้จากการให้บริการที่ร้อยละ 54 ได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายเครือข่าย 5G และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล กดดันผลประกอบการในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่การลงทุนเหล่านี้เป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า จึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะส่งผลให้กลุ่มทรูขยายฐานลูกค้าและเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับหลากหลายอุตสาหกรรมในขณะเดียวกัน โดยกลุ่มทรูยังคงมุ่งมั่นในการบริหารและปรับโครงสร้างต้นทุนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถปรับตัวตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว”
ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการเติบโตร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนเป็น 19,927 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยลูกค้า 5G ของทรูมูฟ เอช ยังคงเติบโตได้สูงต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3.4 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 2 หนุนโดยแคมเปญพิเศษที่ร่วมกับดีไวซ์ 5G อินเตอร์แบรนด์ ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งดึงดูดผู้ใช้บริการรายใหม่ และเพิ่มจำนวนผู้ที่เดิมใช้ระบบ 3G/ 4G อัปเกรดมาใช้ระบบ 5G ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการเติบโตต่อเนื่องของผู้ใช้บริการ 5G ในกลุ่มดีไวซ์ high-tier ด้วยสัญญาการให้บริการที่ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังมีแพ็กเกจให้เลือกสรรอย่างครบครันในทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ลูกค้าสามารถสัมผัสกับประสบการณ์ 5G อย่างแท้จริงตามความชอบของลูกค้าเอง ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ทรูมูฟ เอช มีฐานผู้ใช้บริการรวมเพิ่มสูงขึ้นเป็น 33.3 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการแบบรายเดือน 11.4 ล้านรายและแบบเติมเงิน 21.9 ล้านราย
ทรูออนไลน์ คงความเป็นผู้นำตลาดทั้งด้านรายได้และฐานผู้ใช้บริการ มีรายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์อยู่ที่ 7,254 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2565 ขยายฐานผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รวมเป็นทั้งสิ้น 4.8 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 95,000 รายในระหว่างไตรมาส ขณะที่ ARPU ลดลงเล็กน้อยซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ทรูออนไลน์ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างมาตรฐานการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านที่ดีที่สุด และเติมเต็มทุกไลฟ์สไตล์ของทุกคนในบ้าน โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาได้เปิดตัวแคมเปญ “True Gigatex PRO Life” เปลี่ยนบ้านให้เป็นบ้านอัจฉริยะ ด้วยแพ็กเกจบรอดแบนด์ความเร็วสูงสุดถึง 2Gbps พร้อมกล้อง CCTV และบริการ CCTV Cloud ผสานกับอุปกรณ์ IoT Smart Home จาก True LivingTECH ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเดินหน้าเพิ่มความคุ้มค่าด้วยการพ่วงคอนเทนต์คุณภาพเพิ่มเติมจากแพ็กเกจ True Unlock TV ซึ่งน่าจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับทรูออนไลน์ในครึ่งหลังของปี ต่อยอดจากความต้องการใช้บริการบรอดแบนด์ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2,231 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2565 โดยรายได้หลักจากการสมัครรับชมคอนเทนต์มีสัดส่วนร้อยละ 58 ขณะที่รายได้ค่าโฆษณาลดลงตามการสิ้นสุดของฤดูกาลกีฬา แต่มีแนวโน้มเชิงบวกจากฤดูกาลใหม่ที่กลับมาเริ่มแข่งในไตรมาส 3 ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้ารวม 3.3 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 2 และมี ARPU ที่เติบโตต่อเนื่องเป็น 271 บาท ทรูวิชั่นส์ ยังคงมุ่งเน้นสรรหาคอนเทนต์คุณภาพที่ครบครันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการรับชมที่หลากหลายของแต่ละกลุ่มลูกค้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าของกลุ่มทรูให้สามารถรับชมคอนเทนต์เหล่านี้ผ่านทุกแพลตฟอร์ม ทั้งทีวี สตรีมมิ่งคอนเทนต์ผ่าน TrueVisions NOW สมาร์ทดีไวซ์ ออนไลน์ แพลตฟอร์ม ทรูไอดี ผ่านทั้งแอปพลิเคชัน เว็บ และกล่องทรูไอดีทีวี ล่าสุด ตอกย้ำความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำคอนเทนต์กีฬาชั้นนำ King of Sports คว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ถ่ายทอดสดต่ออีก 3 ฤดูกาลตั้งแต่ 2022/23-2024/25 สร้างรายได้จากคอนเทนต์ด้วยแพ็กเกจพิเศษ “EPL SEASON PASS” ให้ดูบอลสดได้ตลอดทั้งฤดูกาล พร้อมเพิ่มความผูกพันกับลูกค้าที่ชื่นชอบการเล่นเกมในการเข้าร่วมแข่งขันลีกฟุตบอลออนไลน์อีกด้วย
แพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลทรูไอดี เดินหน้าสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้นผ่านความหลากหลายด้านความบันเทิง ทั้งคอนเทนต์กีฬาและวิดีโอออนดีมานด์ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกไลฟ์สไตล์ดิจิทัลที่ตรงกับความชอบของผู้ใช้งาน ทำให้ทรูไอดีสร้างรายได้ให้เติบโตในอัตราเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 ปี 2565 ทรูไอดีมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนที่เติบโตสูงร้อยละ 26 เป็น 32 ล้านราย มียอดรับชมคอนเทนต์วิดีโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 81 เป็น 481 ล้านครั้ง และจำนวนการซื้อคอนเทนต์ด้านความบันเทิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 140 เป็น 893,000 ครั้ง เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อน นอกจากนี้ด้วยจุดเด่นด้านคอนเทนต์และความคุ้มค่าที่เหนือกว่า ทำให้ลูกค้ากล่องทรูไอดี ทีวี เติบโตต่อเนื่องเป็น 3.3 ล้านกล่อง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ล่าสุดได้มีการเปิดตัวแคมเปญ True unlock และ True Unlock TV เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับลูกค้าทรูมูฟ เอช และ ทรูออนไลน์ ในการรับชมคอนเทนต์ กีฬา ซีรีส์ ภาพยนตร์ ต่าง ๆ ผ่านทางทรูไอดีแพลตฟอร์ม สนับสนุนการขยายระบบนิเวศของกลุ่มทรูได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน มีรายได้รวมเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 126 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 โดยเป็นผลมาจากการเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะ (Smart Living) การเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Connectivity) และตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) โดยนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะภายใต้แบรนด์ True Living TECH ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาด B2C ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จึงได้เร่งขยายธุรกิจนวัตกรรมการอยู่อาศัยครบวงจรในตลาด B2B และ B2B2C เพื่อต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว ครอบคลุมความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกบ้านในโครงการและนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการจองการใช้งานส่วนกลางอัจฉริยะ การจัดการอาคาร ผู้มาเยือน หรือรถยนต์ที่เข้าออกในโครงการ นอกจากนี้ ลูกบ้านของโครงการพันธมิตรยังสามารถซื้ออุปกรณ์บ้านอัจฉริยะไปติดตั้งเพิ่มเติมในราคาพิเศษ เพื่อให้ทุกการอยู่อาศัยสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม