November 24, 2024

NTT DATA จับมือ ม.บูรพา ปั้นบุคลากร COBOL หนุนธุรกิจแบงค์-การเงิน แก้วิกฤตขาดคน

Congratulations Low angle view of happy group of six young cheerful graduates in black gowns, throwing up their head wear in the air and celebrating, in blue summer sky, laughing, enjoying

บริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้เครือบริษัท เอ็นทีที เดต้า คอร์ปอเรชัน จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจดิจิทัลและบริการด้านไอทีชั้นนำระดับโลก ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา คลอดโครงการ NTT DATA Critical Resource Preparation เดินหน้าสร้างบุคลากรไอทีคุณภาพป้อนตลาดงาน นำร่องเร่งบ่มเพาะบุคลากร COBOL ป้อนเข้าตลาด หลังเริ่มประสบปัญหาขาดแคลน

เผยกว่า 70% ขององค์กรขนาดใหญ่ยังใช้ภาษา COBOL โดยเฉพาะอุตสาหกรรมธนาคารและการเงิน ประกัน กองทุน โรงแรม โรงพยาบาล ที่มีการขยายธุรกิจต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวน COBOL Programmer ที่เริ่มขาดแคลนมีจำนวนลดลง เผยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา COBOL ทั่วโลกมีอายุเฉลี่ย 55 ปี และมีเพียง 30% มหาวิทยาลัยทั่วโลกที่เปิดสอนหลักสูตร เอ็นทีที เดต้าพร้อมพัฒนาบุคคลากรด้าน COBOL เล็งสนับสนุนพัฒนาด้านไอทีด้านอื่นป้อนตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต

นายโคทาโร่ โอชิโอะ กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนร่วมลงนามความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินโครงการ NTT DATA Critical Resource Preparation โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความพร้อมให้กับนักศึกษาเข้าสู่ตลาดงานและสร้างแรงงานคุณภาพด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทย โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ภายใต้โครงการ IBM Academic Initiative ในการพัฒนาความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับ COBOL Programming, ระบบเมนเฟรมและไฮบริดคลาวด์ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ผ่านการมอบหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดภาคเรียน การจัดอบรมให้ความรู้พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณาจารย์ รวมถึงมอบเครดิตการใช้คลาวด์ฟรีเพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าไปทดลองใช้ระบบจริงแบบเดียวกับที่ใช้ในโลกธุรกิจ เอ็นทีที เดต้า จะเข้าไปทำหน้าที่ด้านการสนับสนุนให้กับทางอาจารย์ ทั้งในด้านการตอบคำถามด้านเทคนิค รวมถึงความรู้เพิ่มเติมในด้านของภาษา COBOL เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนจบหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับ เอ็นทีที เดต้า ช่วงฝึกงาน รวมไปถึงเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าสู่ตลาดงานอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยเองกำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนบุคลากร COBOL Programmer เนื่องจากการใช้งานภาษา COBOL ในการประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เมนเฟรม (Mainframe) ยังมีความเสถียร มีประสิทธิภาพสูง และข้อมูล Tech channel พบว่า 70% ขององค์กรขนาดใหญ่ ยังคงใช้งานระบบด้วยภาษา COBOL และธนาคารชั้นนําของโลก 45 ใน 50 แห่งยังใช้ COBOL ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมผ่านการรูดบัตร ATM ระบบจะรันเข้าสู่ศูนย์กลางด้วยภาษา COBOL 95% ของเวลาทั้งหมด และในหลายอุตสาหกรรมยังทำงานระบบด้วยภาษา COBOL อยู่โดยความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นการสนับสนุนพัฒนาบุคลากรด้านไอทีที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต ไปพร้อมกับการการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่สายอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้นับเป็นการผนึกกำลังของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยเพื่อสร้างแรงงานคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดงานในประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะบุคลากรด้าน COBOL Programmer ที่กำลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลนทั่วโลกปัจจุบันคือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา COBOL ทั่วโลกมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี และมีเพียงมหาวิทยาลัย 30% ทั่วโลกที่ยังคงบรรจุวิชาภาษา COBOL ไว้ในหลักสูตร ในประเทศไทยเองพบว่า หลายมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีการหลักสูตรภาษา COBOL หรือบางมหาลัยเป็นเพียงวิชาเลือก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเก่า แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคาร
“แม้ภาษา COBOL (Common Business Oriented Language) จะเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงที่ใช้งานมานานกว่า 60 ปี แต่ก็ยังมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับธุรกิจอุตสาหกรรมหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเงินและธนาคาร ประกันสังคม กองทุนรวม โรงแรม และโรงพยาบาล ที่เน้นใช้งานในระบบประมวลผลหลัก (Core system) ซึ่งต้องรองรับปริมาณงานในจำนวนมาก และ ประมวลผลอย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยใช้ระบบในการประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เมนเฟรม (Mainframe) ประมวลผลธุรกรรมของแต่ละธุรกิจ ส่งผลให้ความต้องการ COBOL Programmer เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก สวนทางกับจำนวนบุคลากร COBOL Programmer ที่มีจำนวนน้อยลงอย่างต่อเนื่อง”