ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัล สนับสนุนหญิงไทยสู่เส้นทางอาชีพความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในงาน “Microsoft Women@Cybersecurity”
ไมโครซอฟท์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ Sec Girl จัดกิจกรรม “Microsoft Women@Cybersecurity” เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนหญิงไทย ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัย สู่เส้นทางอาชีพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทักษะเชิงดิจิทัลในประเทศไทย
กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจด้วยผู้เข้าร่วมงาน 130 คน ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ผ่านไมโครซอฟท์ทีมส์ จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน รวมถึงวิธีป้องกันตนเองและข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมสนับสนุนการต่อยอดความรู้เชิงลึก ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สมัครเข้าร่วมคอร์สติวเข้ม Security Fundamentals เตรียมความพร้อมเพื่อสอบ SC-900 นอกจากนี้ เยาวชนและนักศึกษาที่เข้าร่วมงานยังได้รับฟังการแนะแนวทางการศึกษาและเส้นทางสู่สายอาชีพความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยรุ่นพี่ผู้เชี่ยวชาญหญิงในสายงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ อีกทั้งยังได้รับประกาศนียบัตรอิเล็กทรอนิกส์จากไมโครซอฟท์หลังเข้าร่วมงานดังกล่าวอีกด้วย โดยงานนี้จัดขึ้นพร้อมกันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในเดือนมีนาคม เพื่อสนับสนุนให้มีผู้หญิงเข้าสู่สายงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก World Economic Forum ในปี พ.ศ. 2563 เผยว่าการโจมตีทางไซเบอร์และการทำทุจริตเกี่ยวกับข้อมูล (data fraud) หรือการขโมยข้อมูล (data theft) มีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างเนื่อง โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2564 มีการคาดการณ์ความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อยู่ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 187 ล้านล้านบาทต่อปี ด้วยเหตุนี้ หน้าที่การดูแลสอดส่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์จึงเป็นที่ต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก เพื่อมาช่วยปกป้องและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในปีนี้โลกยังต้องการแรงงานในสาขาอาชีพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มาเติมเต็มตำแหน่งที่ว่างอยู่ถึง 2 ล้านตำแหน่ง ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 10 ของอาชีพที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในปัจจุบัน[1] และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเป็นภูมิภาคที่ขาดแคลนบุคลากรในสาขาอาชีพดังกล่าวมากที่สุด สำหรับประเทศไทย แรงงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้หญิงอยู่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุนี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จึงเล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนเส้นทางให้หญิงไทยได้ก้าวสู่สายอาชีพนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “Break the Bias – ทลายอคติ” ที่มีต่อผู้หญิง เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ประจำปี 2565 เพื่อลดช่องว่างและสร้างโอกาสให้ผู้หญิงในสายอาชีพนี้
นางชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สาขาอาชีพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถแสดงศักยภาพและประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ในปัจจุบัน โลกดิจิทัลมีข้อมูลอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล และความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กรคือสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้น อาชีพการดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงนับเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการมากที่สุดทั่วโลก และผู้หญิงก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่จะสามารถเติบโตในสายงานนี้ได้ เราจึงมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลและความรู้ที่จำเป็น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลดล็อคศักยภาพของผู้หญิงให้เติบโตและประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพความปลอดภัยด้านไซเบอร์ในอนาคต ไมโครซอฟท์ตระหนักดีถึงความสำคัญของมุมมองที่หลากหลายที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะความหลากหลายจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร และนำมาซึ่งแนวคิดจากผู้หญิงและ ที่ช่วยให้องค์กรดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าที่เคย”
นาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวทางในการแก้ปัญหา จึงต้องมีความพร้อมทั้งการเตรียมคน กระบวนการ และเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศของเรายังมีความต้องการแรงงานด้านความปลอดภัยด้านไซเบอร์อีกจำนวนมาก เราจึงมีทั้งหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับพื้นฐาน และระดับผู้เชี่ยวชาญ ไปจนกระทั่งส่งเสริมการสอบใบประกาศนียบัตร และใบรับรองความเชี่ยวชาญไซเบอร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านไซเบอร์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ผมดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนในสายงานอาชีพนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ผมเชื่อมั่นว่าความรู้ความสามารถของผู้หญิงนั้นจะช่วยเข้ามาแก้ปํญหาลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี”
ดร. ศิริกานต์ พุกกะวรรณะ Security Cloud Solution Architect ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวว่า “นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์การแพร่ระบาด การโจมตีทางไซเบอร์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน พ.ศ. 2563 เกิดการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 238 เปอร์เซ็นต์[2] และในปี พ.ศ. 2564 บริษัททั่วโลกต้องเผชิญปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์[3] เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น และนี่คือเหตุที่การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบที่อาจเกิดกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หัวใจสำคัญของการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์คือการวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อบริหารจัดการและให้ความช่วยเหลือองค์กรและธุรกิจต่าง ๆ ในการรักษาข้อมูลไว้ให้ดีที่สุด พร้อมนำเครื่องมือและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็น Calendar, Outlook, Alarm หรือ Notes เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้าง Work Life Harmony ให้กับการทำงานของเรา”
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมอบช่องทางการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนสามารถฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลของตนเองเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดงานในอนาคต ผ่าน Microsoft Learn ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้แบบทีละขั้น ที่มีตัวเลือกคอร์สเรียนทั้งหมดกว่า 3,800 คอร์ส และสามารถคัดกรองผลลัพธ์การค้นหาคอร์สเรียนได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล รวมถึงช่องทางการเรียนรู้อื่น ๆ ได้แก่ Microsoft Learn for Educators, Microsoft Learn Student Ambassadors, Imagine Cup, LinkedIn Learning, GitHub Education, Azure for Students และ Azure Dev Tools for Teaching เป็นต้น
“เราหวังว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้กับเยาวชน เกี่ยวกับเส้นทางอาชีพสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ที่สามารถเริ่มต้นได้จากการเลือกศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือ ถ้าไม่ใช่สาขาที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถเรียนรู้ต่อยอดเสริมได้ เพียงแค่มีความรู้พื้นฐานด้านไอทีบ้าง ซึ่งไมโครซอฟท์ก็ยินดีที่จะสนับสนุน ในการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นผ่านฝึกอบรมและเข้ารับการทดสอบเพื่อรับประกาศณียบัตรรับรองความรู้และทักษะจากไมโครซอฟท์ ที่มีตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงขั้นสูง เช่น ความปลอดภัยของระบบคลาวด์ เป็นต้น” ดร. ศิริกานต์ กล่าวเสริม