November 24, 2024

เอ็นทีทีเผย เพียง 22.7% ของการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัล ในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มประสิทธิภาพได้

หนึ่งปีนับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 องค์กรต่างๆ ทั่วโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้หลายองค์กรต้องเสริมความแข็งแกร่ง เพิ่มความคล่องตัวและปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น โดยผลการวิจัยของบริษัท เอ็นทีที จำกัด (NTT Ltd.) ผู้ให้บริการเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก เผยแพร่ในรายงาน 2021 Global Managed Services Report พบว่า 89.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารธุรกิจและไอทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นพ้องว่าโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในกระบวนการทำงาน โดย 91.8 เปอร์เซ็นต์ มองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้องค์กรต้องเสริมกลยุทธด้านกระบวนการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัล (Digital Transformation)

การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน และการเร่งให้เกิดกระบวนการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัล เป็นโอกาสสำคัญที่องค์กรต่างๆ สามารถใช้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ โดย 92.4 เปอร์เซ็นต์ของทีมเทคโนโลยีจากทั่วโลกยอมรับว่า กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีขององค์กรโดยรวมมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจแทบทั้งหมด (49.8 เปอร์เซ็นต์) หรือบางส่วน (42.6 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทีมไอทีสามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจหันมาใช้บริการและโซลูชันที่บริหารจัดการโดยฝ่ายไอที เช่น การสนับสนุนการใช้รูปแบบการทำงานแบบกระจายศูนย์ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น
แม้องค์กรมีการวางกลยุทธ์ที่ดีขึ้น การขาดการเชื่อมต่อระหว่างส่วนงานธุรกิจและฝ่ายไอทียังคงเป็นประเด็นสำคัญ 69.9 เปอร์เซ็นต์ของทีมปฏิบัติการจากทั่วโลก เชื่อว่าการมีกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนโอกาสทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่มีเพียง 48.0 เปอร์เซ็นต์ของทีมไอทีเท่านั้นที่เห็นด้วย นอกจากนี้ 69.6 เปอร์เซ็นต์ของทีมปฏิบัติการทั่วโลก ยังมองว่าความเร็วและความคล่องตัวเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี แต่ 53.4 เปอร์เซ็นต์ของทีมไอทีกลับมีความคิดเห็นในทางตรงข้าม
Damian Skendrovic รองประธานบริหารของ NTT Ltd. ให้ความเห็นว่า “โควิด-19 ทำให้เกิดความท้าทายที่คาดไม่ถึง ธุรกิจต่างๆ ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องของการดำเนินธุรกิจและระบบไอที รวมทั้งยังต้องทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจลำดับความสำคัญขององค์กรของตน ฝ่ายไอทีอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลที่จะต้องบริหารจัดการระบบให้เป็นไปตามความต้องการขององค์กรในปัจจุบัน อีกทั้งยังต้องวางแผนในการพัฒนาระบบและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตไปพร้อมๆ กัน ด้วยเทคโนโลยีและความคล่องตัวที่จะสนับสนุนการเจรจาทางธุรกิจ การจัดลำดับความสำคัญจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงของธุรกิจ”
Bold, brave, and resilient (กล้าเผชิญอย่างกล้าหาญและความยืดหยุ่นคล่องตัว)
ในขณะที่องค์กรระดับโลกพยายามเสริมความคล่องตัวให้ธุรกิจ ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่ายังมีแนวทางการจัดการขององค์กรที่แตกต่างกัน บางองค์กรมองว่าการเพิ่มประสิทธิภาพของต้นทุนเป็นวิธีเสริมสร้างความคล่องตัวทางธุรกิจ ขณะที่หลายองค์กรให้ความสำคัญกับความกล้าเผชิญความท้าทาย โดยมองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสทางการตลาดที่องค์กรสามารถใช้ประโยชน์ในการขยายธุรกิจ ซึ่ง 33.8 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรทั่วโลกมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
สิ่งที่น่าสนใจ คือตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 41.7 เปอร์เซ็นต์ หากองค์กรมีการบริหารจัดการระบบไอทีโดยบริษัทผู้ให้บริการจากภายนอกอย่างน้อยสามในสี่ของระบบทั้งหมด ในทางกลับกัน หากองค์กรไม่มีการใช้บริการการจัดการระบบไอทีจากภายนอก หรือมีเพียงเล็กน้อย ตัวเลขจะลดลงเหลือเพียง 25.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ISG หนึ่งในลูกค้าของเอ็นทีทีได้แสดงวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการก่อสร้างที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก ด้วยการส่งมอบสิ่งก่อสร้างที่ช่วยให้ผู้คนและธุรกิจเติบโต ภายใต้วิสัยทัศน์นี้ องค์กรจำเป็นต้องมีความหนักแน่นและกล้าเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
“เนื่องจากเราได้วางจุดยืนองค์กรเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการก่อสร้างที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก เราจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรไอซีที โดยมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ดิจิทัลใหม่ ๆ ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การทำงานร่วมกับ NTT Ltd. ทำให้เรามีการควบคุมเชิงกลยุทธ์และมองเห็นภาพการปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์และชัดเจน ซึ่งเราได้วางใจในระบบการทำงานอัตโนมัติและการรองรับปริมาณงานบน Microsoft Azure”
Skendrovic กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ใช่ทุกองค์กรที่มองว่า Disruption เป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่อย่างน้อยหนึ่งในสามได้มีการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากมองเห็นโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนการทำงานแบบกระจายศูนย์และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้
“ธุรกิจที่กล้าเผชิญความท้าทาย จะสามารถสร้างความคล่องตัวในรูปแบบใหม่ การมีพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้จะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้” Skendrovic กล่าว
ความต้องการในปัจจุบัน การส่งมอบในอนาคต – อยู่ที่ความเร็ว (Present needs, future delivery – at speed)
รายงานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และความสามารถในการปรับใช้นวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในอนาคต ผลการสำรวจพบว่า 93.9 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารธุรกิจและไอทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่มีความสำคัญต่อการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี ขณะที่ 43.6 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าพวกเขามีเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ขององค์กรได้ทันที
กระนั้นความเชื่อดังกล่าว อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดขององค์กรระดับโลกจำนวนไม่น้อย เนื่องจากธุรกิจจำเป็นต้องสร้างสมดุลสำหรับความต้องการในปัจจุบัน ขณะที่ยังต้องลงทุนในเทคโนโลยีและการปรับปรุงกระบวนการให้มีความทันสมัยเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและขยายธุรกิจ ซึ่งนั่นหมายถึง ความกล้าในการเผชิญความท้าทายใหม่
“การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นแรงกดดันให้กับทีมไอที ขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจคาดหวังว่าจะใช้ความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทีมไอทีจึงต้องรับมือกับความท้าทายต่างๆ นับตั้งแต่การจัดการความซับซ้อนของผู้ขายที่มีการนำเสนอการผสานรวมของระบบที่แตกต่างกัน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานแบบเก่า จนถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ และการขาดทักษะในการก้าวให้ทันกับความต้องการทางธุรกิจ” Skendrovic กล่าว
เนื่องจากความเร็วในการออกสู่ตลาดเป็นปัจจัยในการสร้างความแตกต่างทางการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพการทำ Digital Transformation จึงเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรที่มีความกล้าเผชิญความท้าทายใหม่ๆ มีโอกาสที่จะเพิ่มประสิทธิภาพความสำเร็จในการทำ Digital Transformation ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการด้านการจัดการไอทีก็ทำให้องค์กรได้รับการสนับสนุนด้านไอทีไปมากกว่าครึ่ง
การลดความกดดันของทีมไอทีด้านการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ระบบอัติโนมัติบนแพลตฟอร์ม DevOps จะทำให้ความพยายามในกระบวนการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทีมไอทีสามารถมุ่งเน้นไปที่ การพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลาเฉลี่ยนใจการซ่อมแซมระบบ(Mean Time to Repair: MTTR) ดีขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนและพัฒนาปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ
“ขณะที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลบวกเสมอไป จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่องค์กรจำเป็นต้องตระหนักว่า การทรานส์ฟอร์มจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่สำหรับการเสริมสร้างความคล่องตัวขององค์กร การขยายธุรกิจ และการพัฒนานวัตกรรม” Skendrovic กล่าวสรุป
ระเบียบวิธีวิจัย
รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้นจากการสำรวจความคิดเห็นองค์กร 1,350 แห่งใน 21 ประเทศ 6 ภูมิภาค 2020 โดยเป็นองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 330 แห่ง ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลทางออนไลน์โดย Jigsaw Research ผู้ศึกษาวิจัยในนามของ NTT Ltd. ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจและไอที และเป็นผู้ทรงอิทธิพลใน 15 ภาคอุตสาหกรรม