November 24, 2024

หัวเว่ย GCI เผยเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญที่ต้องจับตาในประเทศไทยและอาเซียน ท่ามกลางยุคหลังโควิด-19

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจและการเมืองโลก ภาคธุรกิจก็ยังคงเดินหน้าลงทุนด้านเทคโนโลยีสำคัญเพื่อการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่ช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขัน โดยเทคโนโลยีไอซีทีมีบทบาทสำคัญในการทำให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่นในช่วงที่ยังมีสถานการณ์โรคระบาดจากโควิด-19 ทั้งนี้ รายงาน Global Connectivity Index หรือ GCI 2020 ฉบับล่าสุด ซึ่งได้รับการเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ ณ งาน MWC Shanghai 2021 โดยหัวเว่ยยังเผยให้เห็นถึงเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ดังต่อไปนี้

  • การก่อสร้างและการให้บริการเครือข่ายด้าน 5G จะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว: การเชื่อมต่อแบบบรอดแบนด์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่ยังมีสถานการณ์โรคระบาด เนื่องด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ต ความหน่วง และศักยภาพของเทคโนโลยี 5G มีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจและการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจในภาพรวม รัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย จึงมีแนวโน้มที่จะเร่งขับเคลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ให้เร็วขึ้นและมีราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น
  • สร้างความแข็งแกร่งในอนาคตด้วยการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนโดยคลาวด์: องค์กรต่าง ๆ จะเร่งนำแอปพลิเคชันมาประยุกต์ใช้บนคลาวด์มากขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤติโรคระบาดในปัจจุบัน โดยกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งนับเป็นสัดส่วน 95% ของธุรกิจทั้งหมด จะสามารถใช้ประโยชน์จากคลาวด์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยได้โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณการลงทุนก้อนแรกเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งยังจะมีโครงการสนับสนุนต่าง ๆ จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอีกด้วย
  • ต่อสู้กับภาวะโรคระบาดด้วยเทคโนโลยี AI: การลงทุนด้านโซลูชัน AI กับภาคสาธารณสุขในระดับโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากมูลค่าการลงทุนเดิมซึ่งอยู่ที่ประมาณสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด นอกจากเทคโนโลยีที่ใช้ช่วยตรวจหาไวรัส ยังมีเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีน โดรน และหุ่นยนต์ ที่ทำงานด้วยระบบ AI ซึ่งได้รับการนำมาใช้เพื่อช่วยลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ และลดโอกาสการติดเชื้อในหมู่บุคลากรทางการแพทย์
  • เชื่อมโยงต่อยอดในยุคหลังโควิดด้วยข้อมูลเชิงลึกผ่านเทคโนโลยี IoT: ในอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จาก 5G ในการขับเคลื่อนโซลูชัน IoT สู่โรงงานอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและผลตอบแทนในการลงทุน ทั้งยังช่วยให้สามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้แม้จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม โดยคาดว่าโครงการต่าง ๆ ในด้านการกระจายสินค้า การให้บริการ การผลิต การจัดการทรัพยากร รวมไปถึงโครงการจากภาครัฐ จะมีมูลค่ารวมกันถึง 311,000 ล้านดอลลอร์สหรัฐ ภายในปี 2567

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงที่เริ่มเห็นผลจากนโยบายไอซีทีที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2563  โดยในปี 2562 พบว่ากว่า 78% ของประชากรไทยสามารถเข้าถึงบริการ 4G ได้โดยมีอัตราการเข้าถึงสัญญาณบรอดแบนด์มือถือถึง 132% ของจำนวนประชากรทั้งหมด  นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำเทคโนโลยีประมวลผลบนคลาวด์มาใช้งานเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ในขณะที่นโยบาย Thailand 4.0 จะยังคงขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศยิ่งขึ้นไปอีก

ประเทศไทยยังมีศักยภาพเป็นอย่างมากในหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาคสาธารณสุข ภาคการศึกษา ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างในภาคสาธารณสุข พบว่ารถพยาบาล 5G เป็นหนึ่งในโซลูชันที่ช่วยรับมือปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ส่วนในภาคการเกษตรซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก็จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ด้วยการแบ่งปันและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเพิ่มผลิตผลและสร้างกำไร ทั้งนี้ อ้างอิงจากรายงาน GCI 2020 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอันดับหนึ่งคือ ประเทศสิงคโปร์ รองลงมาคือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทยอยู่ที่อันดับสาม