ยกเครื่องไอทียุคเปลี่ยนผ่านด้วยโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyper Converged
แนวคิดการรวมทรัพยากรไอทีเพื่อบริหารจัดการและแชร์การใช้งานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นความต้องการของทุกองค์กรมานานแล้ว หากยังพอจำกันได้ แนวคิดเรื่อง คอนโซลิเดชัน (Consolidation) นับเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายาม จัดการกับฮาร์ดแวร์แบบรวมศูนย์ แต่ยังทำได้แค่เพียงนำเซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ และเน็ตเวิร์คที่ใช้ในองค์กรมารวมไว้ในศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อให้ดูแลง่าย ประหยัดพื้นที่ และปลอดภัย แต่ยังไม่สามารถจัดสรรการใช้งานฮาร์ดแวร์ได้เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่สามารถนำทรัพยากรส่วนเกินจากจุดหนึ่งไปเติมส่วนที่ขาดในอีกจุดหนึ่งได้ เนื่องจากเป็นการใช้งานแบบหนึ่งเครื่องต่อหนึ่งแอปพลิเคชันหรือหนึ่งระบบปฏิบัติการ จนกระทั่งเกิดเทคโนโลยีที่เรียกว่า เวอร์ชวลไลเซชัน (Virtualization) ที่สามารถจำลองสภาพการทำงานของฮาร์ดแวร์กลุ่มต่าง ๆ ในรูปแบบเวอร์ชวลแมชชีน (Virtual Machine) และทำให้องค์กรสามารถโยกย้าย กระจาย หรือแบ่งปันทรัพยากรไอทีข้ามไปมาระหว่างกันได้อย่างยืดหยุ่น รวดเร็ว เสมือนเป็นการทำงานจากคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน แต่ก็สร้างความยุ่งยากและภาระงานให้กับผู้ดูแลระบบเมื่อต้องติดตั้งใช้งาน และส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้งานปิดภายในองค์กร
รับมือยุคเปลี่ยนผ่านด้วย Hyper Converged Infrastructure
เมื่อความต้องการทางธุรกิจและพฤติกรรมของผู้ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น คลาวด์ประเภทต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติงานทั้งในและนอกองค์กร โดยแอปพลิเคชันมีแนวโน้มพัฒนาจากการใช้เฉพาะในกระบวนการปฏิบัติงาน ไปสู่แพลตฟอร์มบริการธุรกิจบนระบบปฏิบัติการและอุปกรณ์เชื่อมต่อที่หลากหลายจากทุกที่ทั่วประเทศหรือทั่วโลก ดังนั้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีทั้งกับลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ทำให้องค์กรธุรกิจจำต้องยกระดับโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบเวอร์ชวลไลเซชันไปสู่ แนวคิด Hyper Converged Infrastructure (HCI) เพื่อขยายผลการจัดการและใช้งานทรัพยากรไอทีร่วมกันจากส่วนกลางอย่างปลอดภัย ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์ในการประมวลผล เช่น เซิร์ฟเวอร์ ระบบจัดเก็บข้อมูล (Storage) และเน็ตเวิร์ค ไปจนถึงการจัดการกับแอปพลิเคชันหรือบริการทางธุรกิจ โดยมีซอฟต์แวร์เป็นตัวกำหนดและควบคุมการทำงาน (Software-defined) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยี ไฮเปอร์ไวเซอร์ (Hypervisor) ที่จะมาเสริมประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีเกิดใหม่ต่าง ๆ เช่น การทำงานผ่านสภาพแวดล้อมคลาวด์ การทำงานกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในลักษณะเวอร์ชวลเดสก์ท็อป (VDI) อุปกรณ์ BYOD อุปกรณ์ไอโอที เทคโนโลยีเอไอ หรือ แมชชีน เลิร์นนิ่ง เป็นต้น
ในการทำงานของเวอร์ชวลแมชชีนยุคเก่า หากองค์กรต้องการพัฒนาหรือติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชัน หรือบริการทางธุรกิจใด ๆ จะต้องมีการจำลองระบบปฏิบัติการนั้น ๆ ติดไปด้วยจึงจะใช้งานได้ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ (Container) อย่าง Docker เข้ามาช่วยจำลองสภาพแวดล้อมที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับการใช้งานแอปพลิเคชันที่ตอบสนองต่อบริการทางธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น โดยเรียกแอปพลิเคชันเหล่านั้นว่า Cloud-Native Application เพราะไม่ยึดติดกับระบบปฏิบัติการหรือไฮเปอร์ไวเซอร์ ดังนั้น ในแต่ละคอนเทนเนอร์จะบรรจุเฉพาะแอปพลิเคชันหรือบริการธุรกิจ ไฟล์ตั้งค่าการติดตั้ง อิมเมจ และไลบรารี่ต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการนำไปใช้กับเซิร์ฟเวอร์เครื่องใดก็ได้ที่ติดตั้งไฮเปอร์ไวเซอร์ไว้โดยไม่ต้องกังวลกับOS หรือต้องติดตั้งเครื่องมือ (Tools) อื่น ๆ เพิ่มเติมแต่อย่างใด ประโยชน์คือแอปพลิเคชันหรือบริการธุรกิจในรูปของไมโครเซอร์วิส (Microservices) มีขนาดเล็กลง เคลื่อนย้ายง่าย และติดตั้งใช้งานได้รวดเร็ว ขณะเดียวกัน เทคโนโลยี คูเบอร์เนเตส (Kubernetes) ก็จะมาช่วยบริหารจัดการการใช้งานคอนเทนเนอร์หลาย ๆ ตัวในระบบให้ทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Hyper Converged กับแพลตฟอร์มคลาวด์องค์กรเพื่ออนาคต
ถึงตอนนี้ เราพอมองเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบ Hyper Converged ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการพัฒนาระบบงานที่สำคัญต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน สามารถผสมผสานการทำงานระบบเก่าและใหม่ให้มีประสิทธิภาพแม้เทคโนโลยีจะแตกต่างกัน ปรับเปลี่ยนเข้าสู่คลาวด์ที่ทันสมัยด้วยสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยีที่เล็กลงและส่งต่อได้ง่ายขึ้น บริหารทรัพยากรไอทีให้เหมาะสมกับปริมาณงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาปรับเปลี่ยนและบำรุงรักษาระบบไอที นอกจากนั้นผู้ดูแลยังสามารถใช้ประโยชน์ของระบบแบบ Self-Service เพื่อทำงานหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจที่ต้องการผันระบบงานเพื่อรับกับเทคโนโลยีคลาวด์ องค์กรที่กำลังมองหาระบบเพื่อรองรับการขยายสาขา การทำ Co-Location การทำงานจากทางไกล หรือต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพและรับมือกับแอปพลิเคชันที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในระบบหรือบนคลาวด์ แนะนำว่าไม่ควรมองข้ามการนำแนวคิดเรื่อง Hyper Converged ไปใช้
ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีไอทีชั้นนำของโลกหลายแห่งได้พัฒนาประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ให้สามารถรองรับโครงสร้างการทำงานไอทีในแบบ Hyper Converged ได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น HPE SimpliVity 380 โดยฮิวเลตต์-แพคการ์ด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Hyper Converged ที่รวมการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ และเครือข่ายการจัดเก็บข้อมูลไว้ด้วยกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความเร็ว และความยืดหยุ่นในการใช้งาน รวมถึงมีความสามารถในการสำรองหรือกู้คืนข้อมูลไว้อย่างครบถ้วน แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับองค์กรของนูทานิกซ์ (Nutanix Enterprise Cloud Platform) ซึ่งมาพร้อมกับ Nutanix Hypervisor AHV ที่ช่วยดูแลจัดการแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งในระดับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเวอร์ชวลแมชชีน อาทิ ช่วยปกป้องและกู้คืนข้อมูลระดับไฟล์ ทำซ้ำและส่งต่อไฟล์ข้อมูลข้ามไปยังฮาร์ดแวร์กลุ่มต่าง ๆ (คลัสเตอร์) ในกรณีเกิดภัยพิบัติ เพิ่มฟังก์ชันที่เรียกว่า Self-Service Portal สำหรับสร้างคลาวด์ส่วนตัว สร้างคลัสเตอร์ของคูเบอร์เนเตส ลดปัญหาความขัดข้องของระบบ (Downtime) ด้วยการซ่อมแซมข้อมูลที่เสียหายเอง อัพเกรดฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ไฮเปอร์ไวเซอร์ ลดหรือขยายเซิร์ฟเวอร์ที่เชื่อมต่อในเครือข่าย (Node Server) ผ่านออนไลน์ได้รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในการอ่าน-เขียนข้อมูล และกระจายการทำงานโดยไม่ต้องลงทุนสตอเรจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีโซลูชัน Nutanix Xi Frame ซึ่งรองรับการทำงานแบบเวอร์ชวลเดสก์ท็อปที่ต้องอาศัยกราฟิกและการเชื่อมต่อแบบไร้สาย โดยสามารถเข้าระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ เป็นต้น ซึ่งข้อดีคือสามารถซื้อใช้งานได้เท่าที่จำเป็นโดยไม่ต้องลงทุนล่วงหน้า และสามารถจัดซื้อเพิ่มเติมภายหลังได้โดยเชื่อมต่อกับระบบเดิมอย่างไม่มีข้อจำกัด
กล่าวโดยสรุป Hyper Converged นับเป็นเทคโนโลยีอนาคตสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและคลาวด์ ซึ่งตอบโจทย์ได้ตรงจุดทั้งประสิทธิภาพในการควบคุมและลดต้นทุนด้านไอที โดยไม่ลดทอนศักยภาพการทำงานและขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจ