ส่วนตัวแต่ไม่ลับ! ผู้ใช้ออนไลน์ 40% ทั่ว APAC เผชิญปัญหาข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล
ผลการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าผู้บริโภคจากเอเชียแปซิฟิก (APAC) 40% เผชิญกับเหตุการณ์ที่มีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม ขณะที่ผู้ใช้ออนไลน์มากกว่าห้าในสิบคนในภูมิภาคแสดงความกังวลเรื่องการปกป้องชีวิตทั้งออนไลน์และออฟไลน์
รายงาน Kaspersky Global Privacy Report 2020 เป็นการศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ การสำรวจจัดทำโดยบริษัทวิจัยอิสระโทลูน่าระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2020 มีผู้เข้าสำรวจ 15,002 คนจาก 23 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้มี 3,012 คนมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การละเมิดบางอย่างเกี่ยวข้องกับแอ็คเคาท์ที่ถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต (40%) การครอบครองอุปกรณ์อย่างผิดกฎหมาย (39%) ข้อมูลลับถูกขโมยและใช้งาน (31%) ข้อมูลส่วนตัวถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับความยินยอม (20%)
อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ยังพบว่าผู้ใช้มากกว่าหนึ่งในห้ายังคงเต็มใจเปิดเผยข้อมูลความเป็นส่วนตัวเพื่อรับผลิตภัณฑ์หรือบริการฟรี ผู้ตอบแบบสอบถามอีก 24% ยังช่วยลดระดับความปลอดภัยลงด้วยการแชร์รายละเอียดแอ็คเคาท์โซเชียลมีเดียเพื่อเล่นแบบทดสอบตลก เช่น ชนิดของดอกไม้ที่ตัวเองเป็น หรือตัวเองมีหน้าตาเหมือนเซเลปคนไหน นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนสองในสิบยอมรับว่าต้องการความช่วยเหลือเพื่อเรียนรู้วิธีการที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวออนไลน์ของตนเอง
นายสเตฟาน นิวไมเออร์ กรรมการผู้จัดการ แคสเปอร์สกี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ข้อมูลของเราแสดงถึงพฤติกรรมออนไลน์ที่ซับซ้อนภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวออนไลน์ แต่พฤติกรรมออนไลน์และความรู้ด้านความปลอดภัยจะต้องได้รับการยกเครื่อง ด้วยสถานการณ์การทำงานทางไกลในปัจจุบัน ความเป็นส่วนตัวดิจิทัลควรเป็นข้อกังวลสำหรับผู้ใช้ส่วนบุคคลและองค์กร การทำงานในที่สะดวกสบายอย่างบ้านเรากลับเป็นการเพิ่มช่องทางการโจมตีของอาชญากรไซเบอร์ จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงสุขอนามัยในโลกไซเบอร์ เพื่อรักษาทั้งชื่อเสียงส่วนบุคคลและองค์กร”
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับผลที่ตามมาหลังจากการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ผู้ใช้ออนไลน์ระบุผลพวงเชิงลบเกี่ยวกับชีวิตดิจิทัลและแม้กระทั่งชีวิตออฟไลน์ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ คิดเป็น 39% ถูกรบกวนด้วยสแปมและโฆษณาส่วนใหญ่ ผู้ใช้ 33% รู้สึกเครียด และ 24% ระบุว่าชื่อเสียงเสียหาย
นอกจากนี้ ผู้ใช้ 19% รู้สึกไม่พอใจ สูญเสียเงินและถูกรังแก ผู้ใช้ในเอเชียแปซิฟิก 16% มีประสบการณ์โดนแบล็กเมล ผู้ใช้ 15% ความสัมพันธ์ในครอบครัวร้าวฉาน ผู้ใช้ 14% เสียหายเรื่องอาชีพการงาน และ 10% ต้องจบความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักและหย่าร้าง
นายสเตฟานกล่าวเสริมว่า “อาชญากรไซเบอร์มีแนวโน้มที่จะอาศัยความวุ่นวายเป็นช่องทาง เมื่อใดก็ตามที่มีแนวโน้มสำคัญหรือเกิดวิกฤต ก็จะใช้เป็นโอกาสที่สมบูรณ์แบบในการใช้ประโยชน์จากอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ทำให้ผู้ใช้มีความเสี่ยงมากขึ้น การปกป้องตัวเองในช่วงเวลาวิกฤตนี้เป็นสิ่งสำคัญ จะต้องระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่คุณแบ่งปันทางออนไลน์ และตระหนักรู้ว่าข้อมูลที่เปิดเผยไปแล้วนั้นจะถูกใช้ไปทางใดบ้าง เราแนะนำให้ผู้ใช้ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและปรับแต่งตามความเหมาะสม อินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ของโอกาส และทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้ตราบเท่าที่เรารู้วิธีการจัดการข้อมูลและพฤติกรรมออนไลน์ของตัวเองอย่างชาญฉลาด”
แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำวิธีการสำหรับผู้บริโภคที่จะช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณบนอินเทอร์เน็ต ดังนี้
- ทำรายการบัญชีออนไลน์ เพื่อศึกษาว่าบริการและเว็บไซต์ใดบ้างที่อาจจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ
- เริ่มใช้ “Privacy Checker” https://privacy.kaspersky.com/ ที่จะช่วยพิจารณาตั้งค่าโปรไฟล์โซเชียลมีเดียให้เป็นแบบส่วนตัว เพื่อให้บุคคลที่สามค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลระดับสูงได้ยากยิ่งขึ้น
- ติดตั้ง Kaspersky Security Cloud เพื่อช่วยในการระบุคำขอที่อาจเป็นอันตรายหรือน่าสงสัยที่ทำโดยแอป และศึกษาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตทั่วไปประเภทต่างๆ ผลิตภัณฑ์นี้ยังมีฟีเจอร์ Do Not Track เพื่อป้องกันการโหลดองค์ประกอบการติดตามที่จะมาสอดส่องตรวจสอบกิจกรรมของคุณบนเว็บไซต์
- สำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ ควรสอนพนักงานเกี่ยวกับพื้นฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตัวอย่างเช่น ไม่เปิดหรือจัดเก็บไฟล์จากอีเมลหรือเว็บไซต์ที่ไม่รู้จัก เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อบริษัท หรือไม่ใช้รายละเอียดส่วนบุคคลในรหัสผ่าน ไม่ควรใช้ชื่อวันเกิด ที่อยู่ และข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ
- เตือนพนักงานอย่างสม่ำเสมอถึงวิธีจัดการกับข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น จัดเก็บไว้ในบริการคลาวด์ที่ไว้ใจได้ซึ่งต้องได้รับการรับรองความถูกต้องสำหรับการเข้าถึง และไม่ควรแบ่งปันข้อมูลกับบุคคลที่สามที่ไม่น่าเชื่อถือ