อีเอสอาร์ไอลุยต่อยอด “นครนนท์ 4.0” สร้างระบบติดตามสถานการณ์น้ำ บูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่แบบเรียลไทม์ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี ผู้นำด้าน Location Intelligence และตัวแทนจำหน่าย ArcGIS เทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศระดับโลกแห่งเดียวในประเทศไทย เผย “นครนนท์ 4.0” โครงการนำร่องปีที่ผ่านมาเป็นไปได้ด้วยดี เสร็จสิ้นไปแล้ว 91 โครงการ คิดเป็น 94% ของแผนงานทั้งหมด ล่าสุดเดินเครื่องต่อยอดสร้างระบบติดตามสถานการณ์น้ำผ่านกล้อง CCVT พร้อมการแจ้งเตือนอัตโนมัติผ่านแอพพลิเคชันไปยังผู้เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์ 24 ชม. ตั้งเป้าพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบการระบายน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการระบบน้ำ ทั้งน้ำเสียน้ำใช้ ระบบปรับปรุงถนน สิ่งแวดล้อม พื้นที่สาธารณะ ตั้งรับปัญหาขยะล้นเมือง ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรเทศบาลนครนนบุรีที่มีอยู่กว่า 4 แสนราย สู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างสมบูรณ์ยั่งยืน
นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โครงการ “นครนนท์ 4.0” ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการนำเทคโนโลยีจีไอเอสเข้ามาใช้ในการพัฒนาเมือง เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาของประชาชน และเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม โดยสามารถเข้าถึงแอพพลิเคชันที่ใช้งานได้ง่าย ทั้งบนสมาร์ทโฟนและแท็บแลต โดยเฟสแรกได้นำระบบแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อใช้กับงานบริการประชาชน 6 ด้าน ประกอบด้วย ระบบแจ้งปัญหาร้องเรียน ระบบติดตามโครงการ ระบบสวัสดิการและสังคม ระบบสาธารณสุข ระบบงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย และระบบบูรณาการข้อมูลและ ArcGIS ล่าสุดลุยต่อยอดสร้างระบบติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อการบริหารจัดการระบบน้ำแบบเรียลไทม์ 24 ชม.
“ระบบติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เทศบาลนครนนทบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริการประชาชนและเจ้าหน้าที่ โดยใช้งานออนไลน์บนเว็บไซต์และแอพพลิเคชันของเทศบาลนครนนทบุรี ที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย แสดงผลในรูปแบบกราฟ แผนที่ พร้อมพิกัดที่ตั้ง และรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ใช้งานระบบสามารถดูข้อมูลสถานะประตูระบายน้ำ ระดับน้ำหน้าประตูรับน้ำ ระดับน้ำหลังประตูรับน้ำ ระดับน้ำฝน ปริมาณน้ำฝนสะสมย้อนหลัง 1 ชั่วโมง และ 1 วัน ชื่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ และช่องทางการติดต่อ รวมถึงตำแหน่งสถานที่สำคัญ เช่น สถานพยาบาล สถานีบริการน้ำมัน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับแผนการรองรับในการอพยพในกรณีที่เกิดเหตุต่าง ๆ และยังสามารถดูค่าระดับน้ำและภาพจากกล้อง CCVT พร้อมการแจ้งเตือนอัตโนมัติ เมื่อมีระดับน้ำถึงเกณฑ์การแจ้งเตือนที่มีการตั้งค่าไว้ล่วงหน้า จะมีการแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติผ่านแอพพลิเคชันไปยังผู้เกี่ยวข้องตามพื้นที่นั้น ๆ แบบเรียลไทม์ 24 ชม. ซึ่งจะทำให้มีการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที” นางสาวธนพรกล่าว
อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศภูมิศาสตร์ ยังได้เข้ามาพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้กับเทศบาลนครนนทบุรี ได้แก่ ระบบแจ้งเหตุร้องเรียนร้องทุกข์ประชาชน ที่สามารถแจ้งเหตุเข้ามาผ่านระบบและสามารถติดตามหรือดูภาพรวมทั้งหมด ค้นหาการแจ้งเหตุร้องเรียนร้องทุกข์ได้โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 43% โดยมีระบบติดตามกิจกรรมโครงการ เพื่อบริหารความคืบหน้าของโครงการทั้งหมดของเทศบาลนครนนทบุรี ทั้ง 11 หน่วยงานภายใต้เทศบาลนครนนทบุรี ที่แสดงผลในรูปแบบ Dashboard พร้อมแผนที่ พิกัดที่ตั้ง รายละเอียดโครงการ ผู้รับผิดชอบ งบประมาณที่ใช้ รวมถึงสถานะโครงการ โดยภาพรวมในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการต่าง ๆ ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 91 โครงการ คิดเป็น 94% ของโครงการทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันยังมีบางส่วนงานเป็นโครงการนำร่อง โดยมีแผนที่จะพัฒนาบูรณาการข้อมูลไปใช้ในอนาคตอันใกล้นี้
ด้านนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมตรีนครนนทบุรี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการทำงานของเทศบาลนครนนทบุรีในอนาคต จะมุ่งเน้นในเรื่องระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาปรับปรุงถนน สิ่งแวดล้อม ต้นไม้ ไฟฟ้า พื้นที่สาธารณะ การระบายน้ำ และรวมถึงระบบป้องกันน้ำท่วม ปัจจุบันได้มีระบบติดตามดูระดับน้ำในพื้นที่ ซึ่งเทศบาลนครนนทบุรีมีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างสูง การทำงานเพื่อรองรับประชาชนในทุก ๆ ด้าน ต้องใช้บุคลากรจำนวนมากเพื่อรองรับประชากรในพื้นที่ ซึ่งมีกว่า 4 แสนคน ทั้งประชากรที่มีชื่อในทะเบียนบ้านและประชากรจากภูมิลำเนาอื่นที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ จนปัญหาปริมาณขยะที่มีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 500 ตันต่อวัน ส่งผลให้ต้องใช้การบริหารจัดการระบบน้ำเป็นพิเศษ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรเทศบาลนครนนทบุรี โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยริมคลอง ริมแม่น้ำ
เทศบาลนครนนทบุรี ตั้งใจที่จะพัฒนาเมืองตามวิสัยทัศน์และพันธกิจ ด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมของชุมชนเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนประชาชนบนมาตรฐานบริการที่ดีมีคุณภาพด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าเป็นส่วนช่วยเจ้าหน้าที่ในการทำงาน เช่น ระบบการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทั้ง 6 ระบบที่กล่าวมา เมื่อระบบการทำงานสะดวกสบาย รวดเร็ว คล่องตัว ก็สามารถแก้ไขและจัดการปัญหาได้รวดเร็วขึ้น เพื่อนำไปสู่การบริการประชาชนอย่างมีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลจัดการและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมือง จนก้าวเป็น Smart City เป็นเมืองที่น่าอยู่ทั้งในวันนี้และอนาคต
—————————————————————