November 24, 2024

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกระดับระบบเครือข่ายไร้สาย เพื่อก้าวสู่การเป็น Digital Lifestyle University

ในฐานะของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก็เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ไม่ยอมหยุดนิ่งในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยขยายโลกการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอนของนิสิตและคณาจารย์ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย สอดรับกับแนวคิดของการปรับโฉมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่การเป็น “Digital Lifestyle University” ด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทุกแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยเข้าไว้ด้วยกัน และจะทำให้ไลฟ์สไตล์ของนิสิต คณาจารย์ และบุคลากร มีความสะดวกสบายขึ้น สามารถเติมเต็มศักยภาพในการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบได้ทุกวันทั้งขณะอยู่ในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย

 

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเครือข่ายไร้สายถือเป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวให้กลายเป็นจริง จึงเป็นที่มาของการรวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สายทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้การบริหารจัดการ วางแผนการขยายตัวในอนาคต และต่อยอดไปสู่โซลูชันดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต

 

ความท้าทาย

สถาบันการศึกษาในยุคดิจิทัลต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมายเช่นเดียวกับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการเรียนการสอนภายในห้องเรียนของอาจารย์และนิสิต สู่โลกออนไลน์ที่มีการทำกิจกรรม มีการโต้ตอบกัน มีการทำงานกลุ่ม เพื่อที่จะเสริมทักษะอื่นที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของเนื้อหาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากนิสิตสามารถค้นหาข้อมูลและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ภายในห้องเรียนเหล่านั้นได้จากอินเทอร์เน็ต และสามารถเรียนรู้ทางออนไลน์ได้จากทุกที่ทุกเวลา จึงทำให้การเชื่อมต่อและสื่อสารไร้สายกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่สำคัญสำหรับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลของทุกมหาวิทยาลัย

 

อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการให้บริการเครือข่ายไร้สายเช่นเดียวกับสถานศึกษาขนาดใหญ่ทั่วไปก็คือ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีการให้บริการเครือข่ายไร้สายภายใต้ชื่อ Chula WiFi ให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 600 ไร่ 150 อาคาร 750 ชั้น และมีจำนวนผู้ใช้รวมกว่า 50,000 คน แต่เนื่องจากรูปแบบการลงทุนทางด้านไอทีของมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นแบบ  “กระจายศูนย์”  แยกกันซื้อ แยกกันลงทุน แยกกันบริหารจัดการ ซึ่งคณะหรือหน่วยงานผู้ดูแลรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่จะวางแผน จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายต่างๆ ด้วยตนเอง ทำให้ระบบเครือข่ายไร้สายในมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็น Silo-Based เมื่อการลงทุนเป็นไปในลักษณะของต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างดูแล ปัญหาที่ตามมาก็คือคุณภาพและบริการของระบบเครือข่ายไร้สายแต่ละคณะไม่เท่าเทียมกัน โดยขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและความรู้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ไอทีในแต่ละคณะ

คุณรุ่งโรจน์ กิตติถาวรกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  “ด้วยรูปแบบการจัดสรรงบประมาณ และลงทุนทางด้านไอทีกันเองของแต่ละคณะ แต่ละหน่วยงาน จึงไม่แปลกเลยว่าที่ผ่านมาการให้บริการเครือข่ายไร้สายภายในมหาวิทยาลัยมีปัญหาตามมามากมาย ทั้งคุณภาพสัญญาณที่ไม่ดีทั้งในแง่ความครอบคลุมพื้นที่และความเร็วในการเชื่อมต่อ ขณะเดียวกันประสิทธิภาพการทำงานของระบบเครือข่ายไร้สายของแต่ละคณะก็ไม่เท่ากัน อย่างเช่นคณะด้านสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คุณภาพของบริการเครือข่ายไร้สายก็ต่ำกว่า เพราะมักมองว่านิสิตสายนี้ไม่จำเป็นต้องใช้งานด้านไอทีและเครือข่ายไร้สายมากเท่านิสิตของคณะด้านสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวนการติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ก็จะน้อยกว่า

 

ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทุกวันนี้นิสิตใช้มือถือกันทุกคน ต้องการใช้บริการเครือข่ายไร้สายทุกที่ทุกเวลา พอเกิดปัญหานิสิตก็มักมองว่าระบบบเครือข่ายไร้สายของมหาวิทยาลัยคุณภาพแย่ ทั้งที่ความจริงแต่ละคณะก็ลงทุนติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายและดูแลกันเอง ซึ่งรูปแบบการลงทุนทางด้านไอทีของจุฬาฯ ก็มีลักษณะเป็นแบบกระจายศูนย์มานานนับ 10 ปีแล้ว เมื่อต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างติดตั้ง ระบบเครือข่ายไร้สายก็เชื่อมต่อกันอย่างไม่ราบรื่นและเป็นเนื้อเดียวกัน”

คุณรุ่งโรจน์ชี้ให้เห็นถึงอีกปัญหาหนึ่ง มาจากบางคณะมีการติดตั้งจุดแอ็กเซสพอยนต์ที่ไม่สอดคล้องกับการสภาพพื้นที่และไม่สมดุลกับจำนวนผู้ใช้งาน โดยคณะส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการให้บริการเครือข่ายไร้สายเฉพาะในห้องเรียนเป็นหลัก ขณะที่โถงใต้อาคารเรียนหรือลานกิจกรรมกลับใช้บริการเครือข่ายไร้สายไม่ค่อยได้ ทำให้เวลานิสิตออกมาอยู่นอกพื้นที่การเรียนการสอนก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องการใช้บริการเครือข่ายไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินออกนอกคณะ หากเกิดปัญหาการใช้บริการเครือข่ายไร้สายก็ไม่รู้จะไปติดต่อใครดี จะเป็นของคณะ หรือส่วนกลาง”

 

การรวมศูนย์เครือข่ายไร้สายที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้งานได้ในทุกที่ทุกเวลา จึงถือเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัย

แนวทางการดำเนินงาน

เนื่องจากบริบทด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงไป มหาวิทยาลัยจึงมีการปรับปรุงห้องเรียนให้มีความทันสมัยและขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นพื้นที่การให้บริการเครือข่ายไร้สายก็จะไม่เพียงพอ เราก็ต้องมีการวางแผนปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สายทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยก็เห็นประโยชน์ในจุดนี้ พร้อมทั้งให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว  โดยเฉพาะในด้านการลงทุนก็มีการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณจากแบบต่างคนต่างลงทุนกันเองมาเป็นการลงทุนร่วมกัน รวมทั้งมีการวางแผนงบประมาณในระยะยาว 5 ปี  อดีตที่ผ่านมาจะเป็นในลักษณะการวางแผนงบประมาณแบบปีต่อปี ซึ่งงบประมาณทางด้านไอทีที่ได้รับการจัดสรรก็มีอย่างจำกัด ในแต่ละปีจะมีงบประมาณในการลงทุนติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ใหม่และทดแทนแอ็กเซสพอยนต์เดิมที่หมดอายุได้มากสุดปีละไม่เกิน 100 ตัวเท่านั้น

 

ซึ่งคุณรุ่งโรจน์ประเมินว่าในปีแรกของการดำเนินงานจำเป็นต้องใช้แอ็กเซสพอยนต์กว่า 2,000 ตัว ในการปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สายทั้งมหาวิทยาลัย จึงจะสามารถเปลี่ยนการให้บริการเครือข่ายไร้สายในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือได้ในระยะเวลาสั้นๆ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยมีโครงการ CU Transformation ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกภาคส่วน โดยจะมีการนำระบบไอทีมาประยุกต์ใช้งานกันมากยิ่งขึ้น  ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบเครือข่ายทั้งแบบมีสายและไร้สายของเราไม่แข็งแรงพอ ก็ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

 

หลังจากชี้แจงให้ผู้บริหารทราบและเข้าใจถึงความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมศูนย์เครือข่ายไร้สายแล้ว ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทีมงานไอทีที่กระจัดกระจายอยู่ตามคณะและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีอยู่กว่า 100 ชีวิต ให้มีความเข้าใจและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น บริหารจัดการระบบเครือข่ายไร้สายได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งมีการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผสานจุดแข็งของคณะและส่วนกลางเข้าด้วยกันโดยแต่ละคณะมีจุดแข็งในเรื่องของความเข้าใจในตัวของผู้ใช้บริการ (Customer Understanding) กล่าวคือ การรู้จักสภาพพื้นที่ รู้จักนิสิต/อาจารย์/บุคลากรภายในคณะ รวมทั้งทราบถึงพฤติกรรมการใช้บริการเครือข่ายไร้สายภายในคณะเป็นอย่างดี

ในขณะที่ทีมงานส่วนกลาง(สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ) มีจุดแข็งในเรื่องขององค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการระบบเครือข่ายเป็นอย่างดี (Knowledge and Experience) ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมการทำงานจาก silo-based ในรูปแบบเดิมๆ ไปเป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ลักษณะ Cross-Functional โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบบริการและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานทั้งมหาวิทยาลัย (Customer Experience and Service Excellence)

 

หลังแนวคิดและแนวทางการรวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สายผ่านความเห็นชอบของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย และผู้บริหารของแต่ละคณะ ทีมงานไอทีจากส่วนกลางของมหาวิทยาลัยก็ได้เริ่มเข้าไปสำรวจระบบเครือข่ายไร้สายที่กระจายอยู่ตามคณะและหน่วยงานต่างๆ เพื่อประเมินสถานะการทำงานของระบบ และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการดำเนินการรวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สาย

 

ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่สำรวจพบ อาทิ สัญญาณเครือข่ายไร้สายไม่ดี เนื่องจากการติดตั้งแอ็กเซสพอยนต์ไม่ครอบคลุมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ มีสัญญาณเครือข่ายไร้สายแต่เกาะไม่ได้ เนื่องจากปริมาณการใช้งานมีมากเกินกว่าแอ็กเซสพอยนต์ในบริเวณดังกล่าวจะรองรับได้ สัญญาณเครือข่ายไร้สายดีแต่ใช้งานแล้วช้า เนื่องจากสัญญาณเครือข่ายไร้สายใช้ช่องสัญญาณร่วมกันกับระบบงานเครือข่ายอื่นๆ ของคณะ รวมทั้งความสับสนในการติดต่อและแจ้งปัญหา กรณีเกิดปัญหาเครือข่ายไร้สายขึ้น เนื่องจากมีการแบ่งแยกพื้นที่ความดูแลระหว่างคณะและส่วนกลาง ทำให้เราสามารถแยกประเด็นปัญหาทั้งหมดออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ปัญหาคุณภาพสัญญาณ และปัญหาคุณภาพบริการ

 

หลักเกณฑ์ในการเลือกโซลูชัน

คุณรุ่งโรจน์เล่าถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและคัดสรรโซลูชันสำหรับโครงการดังกล่าวนี้ว่า เราเริ่มต้นคิดและประเมินจาก Why ซึ่งเป็นแก่นแท้ของโจทย์ในการดำเนินโครงการนี้ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วตามด้วย How วิเคราะห์และวางแนวทางในการดำเนินโครงการ  สุดท้ายคือ What พิจารณาถึงเทคโนโลยีและโซลูชันที่จะมาตอบโจทย์และแนวทางการดำเนินโครงการที่วางไว้

Why คือ การตอบโจทย์ในเรื่องของคุณภาพสัญญาณ และคุณภาพบริการ

 

How คือ การวิเคราะห์และกำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สายทั้งทางด้านเทคนิคและการบริการ ได้แก่ กำหนดให้มีการแยกอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายไร้สายออกจากระบบงานอื่นๆ กำหนดให้มีการสำรวจและวางแนวแอ็กแซสพอยนต์ใหม่ให้ครอบคลุม (Coverage) และเพียงพอ (Density) ต่อการใช้งาน กำหนดให้มีการทดแทนแอ็กเซสพอยนต์ที่หมดอายุและเสื่อมสภาพ รวมทั้งกำหนดบทบาทและกระบวนการบริหารจัดการระบบเครือข่ายไร้สายทั้งคณะและส่วนกลางให้มีการทำงานประสานเป็นเนื้อเดียวกัน

 

What คือ การประเมินเทคโนโลยีและโซลูชันในตลาด ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเรา โดยโซลูชันที่เลือกจะต้องอยู่ในทิศทางของเทคโนโลยี แบรนด์มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับ มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาและบริการ สุดท้ายต้องคุ้มค่าต่อการลงทุนและใช้งาน ซึ่งโซลูชันและผลิตภัณฑ์ของทางซิสโก้สามารถตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยได้

ผลลัพธ์ที่ได้จากการวมศูนย์ระบบเครือข่ายไร้สาย

  • สัญญาณเครือข่ายไร้สายสามารถครอบคลุมและเพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งพื้นที่ภายในห้องเรียนและพื้นที่ภายนอกห้องเรียน
  • สามารถเชื่อมต่อและใช้งานระบบเครือข่ายไร้สายแบบไร้รอยต่อได้จากทุกพื้นที่และทุกเวลา
  • นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร สามารถใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายไร้สายในด้านการเรียนการสอน และการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • บริหารจัดการและให้บริการระบบเครือข่ายไร้สายทั่วทั้งมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถต่อยอดการให้บริการใหม่ๆ ในอนาคตได้ง่ายขึ้น

 

“หากนับเวลาตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการ วางแผน และดำเนินการวางระบบ Chula WiFi ใหม่ทั้งหมดให้เป็นแบบรวมศูนย์ เพื่อให้สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 600 ไร่ 150 อาคาร 780 ชั้น ประกอบด้วยคณะ สำนักวิชาการ วิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 25 แห่ง โดยมีจำนวนผู้ใช้รวมกันกว่า 50,000 คน ใช้เวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น ซึ่งผลตอบรับภายหลังจากปรับปรุงระบบทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย และเริ่มใช้งานจริงในเดือนสิงหาคม 2561 ถือว่าเป็นไปอย่างน่าพอใจ เพราะแทบไม่มีเสียงบ่นเกี่ยวกับการใช้งานเครือข่ายไร้สายเหมือนในอดีต”

 

สิ่งที่ประทับใจซิสโก้

ซิสโก้ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรด้านระบบเครือข่ายที่สำคัญของมหาวิทยาลัย มีการทำงานและความร่วมมือผ่านโครงการต่างๆกับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค และถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้อยู่เสมอ รวมทั้งการให้บริการอย่างมืออาชีพ

 

การพัฒนาในอนาคต

ทิศทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยจะมุ่งไปสู่การเป็น Digital Lifestyle University ควบคู่กับการดำเนินโครงการ CU Transformation ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับกระบวนการเรียนการสอน การวิจัย และการทำงาน ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้เลยก็คือการมีระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการใช้งานสำหรับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ณ ปัจจุบันเรารู้สึกพอใจในระดับหนึ่งกับระบบเครือข่ายไร้สายที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ แต่เราคงไม่หยุดเพียงเท่านี้ โดยในปีแรก 2561 เราได้ปรับปรุงบริการเครือข่ายไร้สายให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อการใช้งานในพื้นที่การเรียนการสอน โดยสามารถการันตีความเร็วที่ 100 Mbps

 

สำหรับปีที่ 2 คือ ในปี 2562 นี้ จะเป็นการปรับปรุงระบบเครือข่ายไร้สาย (WiFi) เพิ่มเติมในส่วนของลานกิจกรรมและพื้นที่ภายนอกห้องเรียนของคณะต่างๆ เพื่อให้การใช้งานระบบเครือข่ายไร้สาย (WiFi) เป็นไปอย่างต่อเนื่องและไร้รอยต่อ รวมทั้งจะเพิ่มบริการ Self-service Guest WiFi  สำหรับแขกและบุคคลทั่วไปที่เข้าติดต่อภายในมหาวิทยาลัย ให้สามารถใช้บริการ WiFi ได้ฟรี โดยไม่ต้องยุ่งยากและเสียเวลาในการไปขอรหัสในการใช้งานเครือข่ายไร้สายจากเจ้าหน้าที่เหมือนแต่ก่อน เพียงแค่ลงทะเบียน ยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลก่อนการเข้าใช้บริการ

 

ส่วนในปีที่ 3 คือในปี 2563 จะนำ Big Data มาวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ระบบเครือข่ายไร้สายมากขึ้น เพราะในแต่ละพื้นที่ แต่ละคณะมักจะมีการปรับปรุงสถานที่กันอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งก่อสร้างบางอย่างอาจส่งผลกับการทำงานของแอ็กเซสพอยนต์ที่ติดตั้งไว้ตามจุดเหล่านั้น ซึ่งการใช้ Big Data จะทำให้เราสามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบเครือข่ายไร้สาย และสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้ใช้เจอปัญหาแล้วโทรเข้ามาแจ้งเหมือนเมื่อก่อน ขณะเดียวกันเมื่อมีข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ในการวางแผนลงทุนติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายในอนาคตได้ พื้นที่ไหนมีคนใช้งานเครือข่ายไร้สายเป็นจำนวนมากก็ต้องมีการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม พื้นที่ไหน มีคนใช้น้อยก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม

 

เพราะฉะนั้นน้ำหนักของการลงทุนระบบเครือข่ายไร้สายก็ไม่ใช่เรื่องของการครอบคลุมพื้นที่ของสัญญาณ และความเร็วของเครือข่ายเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของการตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้เราจะทำต่อเนื่องไปอีก 4 ปี

ข้อแนะนำสำหรับสถานศึกษาอื่นๆ

สำหรับ Chula WiFi นั้น มิใช่เรื่องของเทคโนโลยี (Technology) เพียงอย่างเดียว แต่มีอีก 2 ด้านที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย ได้แก่

 

  1. เรื่องของคน (People) ซึ่งประกอบด้วย ผู้รับบริการ (Customer) หมายถึง นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรที่ใช้บริการเครือข่ายไร้สาย ส่วนอีกกลุ่มเป็นคนทำงาน (Staff) ซึ่งก็คือทีมงานไอทีของเรา ว่ามีอัตรากำลังเพียงพอหรือไม่

 

  1. เรื่องของกระบวนการ (Process) ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการให้บริการ (Service Process) และกระบวนการดำเนินงาน (Operational Process) จำเป็นต้องพิจารณาร่วมด้วยเสมอ ว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ Why ของเรา

ดาวน์โหลด Infographic