November 24, 2024

นักวิจัยไทยคิดค้น Smart Watch ตรวจจับและแจ้งเตือนภัยก๊าซพิษคร่าชีวิตผู้คน

ข่าวคราวฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศทำให้หนึ่งในงานประดิษฐ์ของนักวิจัยไทยกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เพราะมลพิษทางอากาศทั้งในอาคารและนอกอาคาร ล้วนเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือก๊าซพิษที่อยู่รอบตัวมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ดังที่ปรากฏข่าวการเสียชีวิตจากการสูดดมก๊าซพิษเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งในบ่อน้ำเสียของโรงงาน การติดเครื่องยนต์ไว้ขณะนอน หรือเด็กที่ถูกลืมไว้บนรถตู้โดยสารโรงเรียน เป็นต้น ก๊าซบางชนิดอย่างก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์จะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จึงทำให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะตรวจรับกลิ่น หรือมองเห็นด้วยตาได้ และไม่สามารถรับรู้ถึงขีดอันตรายของการสูบดมหรือสัมผัสก๊าซพิษเหล่านี้ได้

ผศ.ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยผลงานวิจัย “นาฬิกาแจ้งเตือนก๊าซพิษแบบออนไลน์ (loT Smart Watch)” นาฬิกาตรวจจับก๊าซพิษอันตรายใกล้ตัวประชาชน 3 ชนิด คือ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) สาเหตุจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ (รถยนต์เก่า, โรงงานอุตสาหกรรม), ไนตรัสออกไซด์ (N2O) สาเหตุจากการเผาไหม้สมบูรณ์ (รถยนต์, โรงงานอุตสาหกรรม) และแอมโมเนีย (NH3) สารทำความเย็น (โรงงานผลิตน้ำแข็ง, โรงงานอุตสาหกรรม)
ผศ. ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของผลงานวิจัย “IoT Smart Watch”

โดยหลักสำคัญในการผลิตอุปกรณ์มี 3 ส่วน คือ “การออกแบบและผลิตเซ็นเซอร์ (Sensor) ขนาดเล็ก” เหมาะแก่การติดตั้งในอุปกรณ์สะดวกพกพา, “การออกแบบและผลิตเซ็นเซอร์ในราคาย่อมเยา” พร้อมแก่การส่งต่องานวิจัยแก่ภาคธุรกิจเพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายในราคาที่สามารถจับต้องได้ และ “การออกแบบให้สามารถแสดงผลข้อมูลที่นาฬิกาและส่งข้อมูลไปยังแอปพลิเคชันได้ทันที (Real time)” เพื่อให้ผู้สวมใส่อุปกรณ์สามารถหลบหนีจากภัยอันตรายได้ทันท่วงที

โดย ผศ.ดร.ชัชวาล ได้อธิบายถึงกลไกของผลงานต้นแบบนาฬิกาแจ้งเตือนก๊าซพิษแบบออนไลน์ (loT Smart Watch) ว่า “การทำงานของนาฬิกาชนิดนี้จะใช้เซ็นเซอร์ (Sensor) ขนาดเล็กในการตรวจจับก๊าซพิษ โดยเซ็นเซอร์ชนิดนี้ผลิตโดยการพิมพ์น้ำหมึกนำไฟฟ้าลงบนวัสดุ โดยน้ำหมึกแต่ละชนิดที่ผลิตขึ้นจะมีค่าความต้านทานจำเพาะกับก๊าซพิษแต่ละชนิด ซึ่งสามารถวัดและประมวลผลออกมาเป็นปริมาณก๊าซในหน่วย ppm (ปริมาณก๊าซพิษ 1 โมเลกุล ในอากาศ 1 ล้านโมเลกุล) ซึ่งค่าที่วัดออกมาได้จะถูกส่งไปแสดงผลแบบดิจิทัลเป็นตัวเลขบนหน้าจอนาฬิกา และสามารถส่งเสียงเตือนที่อุปกรณ์ได้ทันทีหากมีปริมาณมากเกินต่อความปลอดภัยของผู้สวมใส่ (ปัจจุบัน นาฬิกาแต่ละเรือนมีเซ็นเซอร์ตรวจจับก๊าซพิษ 1 ชนิด)”

ขั้นตอนการพิมพ์เซนเซอร์ด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ต

นอกจากการแจ้งผลทันที (Real time) ที่ตัวนาฬิกาแล้ว ผศ.ดร.ชัชวาล ยังได้ออกแบบให้สามารถติดตามข้อมูลได้ทางแอปพลิเคชัน (ปัจจุบันมีเฉพาะในระบบ Android) เพื่อความสะดวกในการติดตามข้อมูล โดย ผศ.ดร.ชัชวาล ได้อธิบายว่า “สิ่งที่นาฬิกาเรือนนี้สามารถประมวลผลและส่งข้อมูลไปยังแอปพลิเคชันแก่ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ คือ สถานะแบตเตอรี่ของนาฬิกา อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณก๊าซพิษ โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้สามารถแสดงพิกัดของผู้สวมใส่ได้อีกด้วย (คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้)”

ปัจจุบัน “นาฬิกาแจ้งเตือนก๊าซพิษแบบออนไลน์ (loT Smart Watch)” ผลงานวิจัยโดยนักวิจัยไทยพร้อมแล้วที่จะให้ภาคธุรกิจมาลงทุนเพื่อขยายผลไปสู่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีอุปกรณ์สะดวกพกพาในการตรวจวัดปริมาณก๊าซพิษเพื่อความปลอดภัย ในราคาที่สามารถจับต้องได้ โดย ผศ.ดร.ชัชวาล เผยว่าผลงานนี้จะยังมีการพัฒนาต่อไป สำหรับตัวเซ็นเซอร์ได้วางแผนที่จะพัฒนาให้รองรับการตรวจจับก๊าซพิษชนิดอื่นมากขึ้น เช่น ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) อุปกรณ์นาฬิกาจะมีการพัฒนาให้รองรับการตรวจวัดค่าอื่นที่มีผลต่อร่างกายมากขึ้น เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ และยังเล็งถึงการขยายผลไปสู่อุปกรณ์ชนิดอื่น เช่น โดรนตรวจจับก๊าซพิษ และอุปกรณ์ตรวจับก๊าซพิษสำหรับติดตั้งในรถยนต์ เป็นต้น